วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อาหารสำหรับเด็กแรกเกิด

อาหารตามวัย คือ อาหารเพิ่มเติมจากนมแม่ โดยเด็กจะได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และเพิ่มจำนวนมื้อตามอายุเด็กค่ะ แต่ก่อนที่จะไปดูเมนูอาหารตามวัย เรามาศึกษาการเตรียมอาหารสำหรับลูกของเรากันก่อนนะคะ

1. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนจับต้องอาหาร
2. ใช้ภาชนะที่สะอาด เก็บไว้มิดชิด ไม่ให้แมลงวันหรือแมลงอื่นๆไต่ตอม
3. หุงต้มอาหารและน้ำให้สุกอย่างทั่วถึง
4. ต้มหรือตุ๋นข้าวจนสุกเละ แล้วนำมาบดให้ละเอียดโดยใช้กระชอน หรือบดด้วยช้อนก็ได้ หรือตำข้าวสารให้ละเอียดแล้วจึงค่อยนำไปต้มให้สุก จะช่วยประหยัดเวลาได้มาก
5. สับหมู หั่นผักให้ละเอียดก่อนนำไปหุงต้ม
6. ให้กินเนื้อปลาสุก โดยการย่าง นึ่งหรือต้ม ไม่ควรให้กินหนังปลา
7. ให้กินแกงจืด (น้ำต้มผักกับเนื้อสัตว์บดละเอียด) ผสมกับข้าว โดยใช้แกงจืดหรือน้ำผัดผัก แต่ไม่ต้องเค็ม
8. เมื่อเด็กอายุ 7 เดือนแล้วให้กินถั่วเมล็ดแห้งได้ แล้วนำไปหุงต้มปนไปกับข้าว หรือจะนำไปทำเป็นขนมผสมกับน้ำตาลและนม

เมนูอาหารเด็กเล็ก อายุ 0-12 เดือน (สำหรับ 1 วัน) 

อายุครบ 4 เดือนขึ้นไป
กินนมแม่ ข้าวบด ไข่แดงต้มสุกผสมแกงจืดวันละ 1 ครั้ง แล้วกินนมแม่ตามจนอิ่ม
อายุครบ 5 เดือน
กินนมแม่ เพิ่มข้าวบดเนื้อปลาสุกสลับกับไข่แดงต้มสุกผสมแกงจืดวันละ 1 ครั้ง แล้วกินนมแม่ตามจนอิ่ม

อายุครบ 6 เดือน
กินนมแม่ ข้าวบดเนื้อปลาสุกหรือไข่แดงต้มสุกผสมแกงจืด โดยเพิ่มผักสุกบดด้วยทุกครั้งเป็นอาหารแทนนมแม่ 1 มื้อ มีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ

อายุครบ 7 เดือน
กินนมแม่ เพิ่มเนื้อสัตว์สุกบดชนิดอื่น เช่น ไก่ หมูและตับสัตว์สุกบด หรือทั้งไข่แดงและไข่ขาวต้มสุกบดลงในข้าวและผักบดสลับกับอาหารที่เคยให้เมื่ออายุครบ 6 เดือน มีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ

อายุ 8-9 เดือน
กินนมแม่ กินอาหารเช่นเดียวกับอายุครบ 7 เดือน แต่บดหยาบและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นอาหารหลักแทนน้ำนมแม่ได้ 2 มื้อ มีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ
อายุ 10-12 เดือน
กินนมแม่ กินอาหารเช่นเดียวกับอายุ 8-9 เดือน แต่เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเป็นอาหารหลักแทนน้ำนมแม่ได้ 3 มื้อ มีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ


1. อย่าให้อาหารอื่นนอกจากนมแม่ในระยะ 4 เดือนแรก เพราะลูกจะได้รับประโยชน์จากนมแม่ไม่เต็มที่ และนมแม่จะลดลงเพราะการดูดกระตุ้นน้อยลง
2. ควรเริ่มให้อาหารอื่นตามเมนูที่แนะนำ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยง่ายขึ้นนะคะ
3. เริ่มให้ลูกกินอาหารทีละอย่าง ทีละน้อยๆ เช่น 1 ช้อนชา แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนตามแต่ชนิดของอาหาร โดยให้กินก่อนกินนมแม่มื้อใดมื้อหนึ่งเป็นประจำ แล้วให้นมตามจนลูกอิ่มนะคะ ในช่วง 6 เดือนแรก ควรให้อาหารวันละ 1 มื้อโดยเพิ่มทีละน้อยๆ จนมากพอ และเป็นอาหารหลักได้ 1 มื้อ เมื่ออายุ 6 เดือน
4. ควรป้อนอาหารทุกชนิดด้วยช้อนเล็กๆ เพราะเราต้องการหัดให้ลูกรู้จักการกินอาหารจากช้อนค่ะ
5. ควรเว้นระยะในการเริ่มอาหารใหม่แต่ละชนิด เพื่อดูการยอมรับและดูว่าลูกแพ้อาหารหรือไม่ เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
6. ถ้าลูกไม่กินเพราะไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ควรงดไว้ก่อนชั่วคราวค่ะ แล้วค่อยลองให้อาหารชนิดนั้นใหม่ในอีก 3-4 วันต่อมา จนลูกยอมกิน
7. หัดให้ลูกกินอาหารเหลวก่อน เช่น น้ำส้มคั้น น้ำต้มผัก แล้วจึงหัดให้กินอาหารข้นขึ้น เช่น กล้วยน้ำว้าสุกงอมบดผสมกับน้ำต้มสุกเล็กน้อย ข้าวบดผสมน้ำแกงจืด ไข่แดงต้ม ผักบด ปลาบด เป็นต้น อาหารจะค่อยๆข้นขึ้นและหยาบขึ้นตามอายุของลูกนะคะ
8. ให้ลูกกินน้ำต้มสุกบ้าง เพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ต่างๆได้สมบูรณ์ และช่วยในการขับถ่ายของเสีย
9. เมื่อลูกเริ่มมีฟัน ก็ให้กินอาหารสับละเอียด ไม่ต้องบดค่ะ
10. ให้ลูกกินอาหารที่สดใหม่ และทำสุกใหม่ๆ
11. เมื่อลูกไม่ต้องการกิน อย่าบังคับนะคะ พยายามลองให้ลูกกินใหม่วันต่อไป
12. อย่าให้ลูกกินอาหารรสเค็มจัดและหวานจัด


ที่มา
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

ข้อแนะนำในการให้อาหารตามวัยแก่เด็กเล็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น