วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สื่อที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเด็กปฐมวัย

: สื่อที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเด็กปฐมวัย

ที่มา  :  บทความจากจุลสารเพื่อนอนุบาล แผนกอนุบาล
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ;
อ้างอิงมาจาก  สื่อเพื่อพัฒนาเด็กไทยวัยเรียนรู้

 พี่ลูกพีช..
          เมื่อวงการศึกษาของเด็กปฐมวัย กำลังตื่นตัวในการจัดการศึกษา เพื่อรองรับโลกยุคข่าวสารไร้พรมแดน การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย จึงเป็นประเด็นที่พูดกันว่า มีความเหมาะสมอย่างไร เด็กมีความพร้อมทางด้านร่างกาย และสติปัญญาเพียงพอที่จะใช้คอมพิวเตอร์หรือยัง ดังนั้นเพื่อเป็น     ข้อมูลสำหรับพิจารณาว่า สื่อคอมพิวเตอร์นั้นจะเป็นสื่อที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเด็กปฐมวัยจริงหรือ เรามาศึกษาและเรียนรู้แนวความคิดที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กๆ ปฐมวัยกันค่ะ
การใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กปฐมวัย
         เด็กจะเรียนรู้กิจกรรมจากคอมพิวเตอร์ในเรื่องเกี่ยวกับสัญลักษณ์ เพราะในชีวิตประจำวันเด็กก็ใช้สัญลักษณ์จากการสื่อสารด้วยท่าทาง ภาษาในการเล่น และงานศิลปะอยู่แล้ว จึงเห็นว่า เด็กก่อนวัยเรียนควรได้รับประโยชน์จากการใช้คอมพิวเตอร์ด้วย แต่ยังมีผู้วิตกว่า แนวคิดนี้เป็นการเร่งรัดเด็กหรือไม่ คำตอบประการหนึ่งคือ การใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นอันตรายเลย แต่เราก็ควรใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับเด็กตามระดับความสามารถของเขาเป็นสำคัญ
การเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์
         ถ้าเด็กเล่นคอมพิวเตอร์ด้วยความรู้สึกสบายใจ มีความเชื่อมั่น และสนุกกับการเล่นแล้ว เด็กจะพัฒนาการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการมี      ผู้ใหญ่คอยดูแล สนับสนุน ให้กำลังใจ และรู้จักเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมให้เด็ก
         นอกจากนี้ การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน ควรให้เด็กมีโอกาสเลือกเล่นกิจกรรมได้อย่างเสรี โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นมุมหนึ่งของห้องเรียนเช่นเดียวกับมุมไม้บล็อก มุมหนังสือ มุมศิลปะ มุมบ้าน มุมบทบาทสมมติ ฯลฯ จะเอื้อประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ได้ดีกว่าการจัดให้เด็กแยกไปเรียนต่างหาก การจัดมุมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาการทางสังคม เพราะเด็กอาจจะนั่งหน้าจอด้วยกัน พูดคุย ช่วยกันแก้ปัญหา ร่วมกันตัดสินใจ ลองผิดลองถูก อีกทั้งเป็นการพัฒนาสติปัญญาและภาษาได้อย่างดี
การพัฒนาด้านสังคม อารมณ์ และจิตใจ
         จากการวิจัยพบว่า เด็กอายุ 4 ขวบ สามารถช่วยอธิบายวิธีการแก้ปัญหาให้เพื่อนได้ และสามารถสาธิตให้เพื่อนดูได้ถูกต้อง และจากการสังเกตพบว่า เด็กได้เลียนแบบวิธีการสอนของครูมาช่วยเหลือเพื่อน ดังนั้นครูควรต้องระวังบทบาทขณะสอนเด็กๆ ให้เหมาะสมด้วย
         คอมพิวเตอร์จะช่วยพัฒนาเด็กได้มากในเรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารและการเรียนรู้ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้นครูอาจช่วยกระตุ้นการทำงานร่วมกัน โดยจัดให้เด็กนั่งเป็นคู่หน้าเครื่อง และชักจูงให้ช่วยกันคิดในการทำงาน โดยไม่ใช่แข่งขันกัน
การพัฒนาด้านทักษะภาษา
         ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับการฝึกการท่องจำสำหรับเด็กปฐมวัย จะช่วยเตรียมทักษะการอ่าน เพราะทำให้เด็กจำแนกตัวอักษร จำตัวอักษร และเรียกได้ถูกต้อง ทำให้รู้คำศัพท์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม โปรแกรมสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นได้มีการพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ควรให้เด็กได้รับการฝึกแต่ความจำเท่านั้น ผู้ใหญ่ควรเลือกโปรแกรมที่ใช้การสื่อสารสองทางได้ คือ คอมพิวเตอร์พูดได้ สามารถตอบสนองเด็กได้ ร้องเพลงได้ จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้น
         นอกจากจะมีคอมพิวเตอร์ที่ช่วยเตรียมทักษะด้านการอ่านแล้ว ยังมีโปรแกรมที่ช่วยในเรื่องภาษาเขียนของเด็กด้วย ซึ่งโดยปกติภาษาเขียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ไม่จูงใจในการสื่อสารสำหรับเด็ก แต่ในปัจจุบันนี้มีโปรแกรม Word Processor ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้การสื่อสารสองทาง เด็กจึงเรียนรู้ที่จะแก้ไขได้ด้วยตนเอง ภาษาเขียนของเด็กจึงได้พัฒนาตั้งแต่เริ่มรู้วิธีเขียนที่ถูกต้อง จนถึงขั้น      สื่อสารได้ จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการเขียน ลดปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อนิ้วมือยังไม่แข็งแรง และลดความกังวลใจว่าจะเขียนผิด ถ้าครู คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองให้การสนับสนุนและดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
การพัฒนาด้านคณิตศาสตร์ และการแก้ปัญหา
         เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้ทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับการจำแนกแยกแยะสี รูปทรง ตัวเลข ตลอดจนรู้จักการเรียงลำดับ มิติสัมพันธ์ โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวกระตุ้นได้ดี
         โปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย ไม่ใช่เป็นโปรแกรมเกี่ยวกับความจำที่เน้นถูก–ผิด เป็นหลักเท่านั้น แต่ควรเป็นโปรแกรมที่ท้าทายในการแก้ปัญหา โดยให้เด็กสามารถสร้างทางเลือก ตัดสินใจ ที่จะหาวิธีในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นการพัฒนาความคิด บทบาทของครูสำหรับเด็ก คือ ครูจะต้องกระตือรือร้นที่จะสนุบสนุนป้อนคำถาม กระตุ้น และสาธิตให้เด็กเกิดความคิด

ข้อควรคำนึงในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับเด็กปฐมวัย
         1) โปรแกรมจะต้องเหมาะสมสำหรับเด็ก การนำโปรแกรมที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมาใช้กับเด็ก เพื่อให้เป็นเด็กอัศจรรย์ (Super Kid) เป็นการสร้างควากดดันให้กับเด็กมากกว่าจะเป็นการเสริมสร้างสติปัญญา
         2) ควบคุมเวลาในการใช้ เพราะเด็กอาจจะเพลิดเพลิน และถ้าเด็กอยู่ใกล้เกินไปจะเสียสายตา จนถึงขั้นตาเสื่อมได้
         3) ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ การเล่นคอมพิวเตอร์ ควรใช้จอของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรงจะดีกว่าการเล่นกับจอทีวี เพราะจอคอมพิวเตอร์เป็นจอที่ละเอียดกว่า และมีการกรองแสงด้วย ซึ่งช่วยถนอมสายตาเด็กได้
         4) ควรสอนเด็กให้รู้จักวิธีการเปิด–ปิดเครื่องและวิธีการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย และรู้จักการถนอมเครื่องด้วย
         การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะนำมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ประเด็นสำคัญอยู่ที่คุณครู คุณพ่อคุณแม่  ผู้ปกครอง ต้องมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบคอบ มีความพร้อมทั้งในแง่ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการสอน และผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก และควรตระหนักว่า คอมพิวเตอร์เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ไม่ใช่เร่งรัดให้เด็กประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนเกินวัย และไม่ควรนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพียงเพื่อเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพราะจะทำให้เด็กในวัยเรียนสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์


ชนิดของสื่อการสอน

ชนิดของสื่อการสอน             สื่อการสอนที่ใช้ในการสอนมีหลายชนิดสำหรับเด็กปฐมวัยอาจกล่าวได้ว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นเครื่องช่วยให้เด็กวัยนี้มีพัฒนาการ นับว่าเป็นสื่อการสอนได้ทั้งสิ้น ได้แก่
             1. ครูเป็นสื่อที่นับได้ว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นผู้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในการเรียนรู้และเป็นสื่อที่จะนำสื่ออื่น ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน หากปราศจากครู การเรียนการสอนก็จะไม่มีผลต่อเด็กในวัยนี้อย่างแน่นอน
             2. สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
สื่อชนิดนี้ครูหรือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องจัดหาหรือทำขึ้น เพราะมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแต่ผู้ใช้จะต้องเลือกตามความมุ่งหมาย เช่น การสอนเรื่องวงจรชีวิตกบ ก็ควรเลือกฤดูกาลที่เหมาะสม คือ ฤดูฝน เพื่อจะได้นำสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติมาศึกษาได้ แทนที่จะใช้วิธีวาดภาพไข่กบ ลูกอ็อด และลูกกบ ประกอบคำอธิบาย เป็นต้น
             3. สื่อที่ต้องจัดทำขึ้น
สื่อชนิดนี้มีมากมายหลายชนิด สุดแต่ผู้ที่สนใจจะจัดซื้อ จัดหา หรือจัดทำขึ้น ได้แก่ ของจำลอง ภาพถ่าย ภาพวาด เกม วีดีทัศน์ ฯลฯ
นอกเหนือจากนี้ สื่อดังกล่าวอาจแบ่งออกตามลักษณะของการใช้ได้เป็น 3 ประเภทคือ
             1. สื่อการสอนประเภทวัสดุ เช่น ภาพ เปลือกหอย ฯลฯ
             2. สื่อการสอนประเภทอุปกรณ์ เช่น วิทยุ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องรับโทรทัศน์ ฯลฯ
             3. สื่อการสอนประเภทวิธีการ กระบวนการจัดกิจกรรม เช่น การสาธิต การทดลอง เกม บทบาทสมมติ ฯลฯ

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

การเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

Posted by: natthamon on: สิงหาคม 7, 2009
01

ถ้าลูกของคุณมีน้ำหนักมากกว่า 2.5 กิโลกรัมขึ้นไป
ก็เรียกได้ว่าใช้ได้ เพราะเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม
จะถูกจัดอยู่ในประเภท“เด็กไม่ครบกำหนด” (Premature)และต้องดูแลเป็นพิเศษลักษณะของเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงคือ สีผิวสดใสและร้องเสียงดังคุณแม่บางคนอาจสงสัยว่าลูกของคุณจะถ่ายปัสสาวะครั้งแรกเมื่อไรปกติแล้วเด็กจะถ่ายภายใน 24 ชั่วโมงแต่เด็กแข็งแรงดีบางคนอาจไม่ถ่ายภายใน 24 ชั่วโมงก็มี
คุณอาจตกใจเมื่อเห็นปัสสาวะของเด็กมีสีแดงอ่อนคล้ายสีอิฐเนื่องจากเป็นเกลือของกรดยูริก
ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาอะไรสำหรับอุจจาระก็เช่นเดียวกันเด็กจะถ่ายอุจจาระครั้งแรกใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
อุจจาระจะมีสีเขียวคล้ำหรือสีเทาดำเหนียว ๆ เรียกว่า “ขี้เทา”เด็กแรกเกิดจะร้องบ้างเป็นบางครั้ง
แต่ส่วนใหญ่จะนอนหลับ รูปหัวของเด็กมักจะเบี้ยวบูดเพราะถูกบีบระหว่างผ่านช่องคลอด
โดยเฉพาะลูกคนแรกหรือลูกของหญิงมีอายุหัวมักจะปูดเห็นได้ชัด ลักษณะเช่นนี้จะหายไปเอง
โดยธรรมชาติ ถ้าคุณคลำหัวเด็กตอนบนด้านหน้าอาจตกใจเมื่อพบส่วนที่ไม่มีกะโหลกและนิ่มบุ๋มลงไป
ซึ่งเราเรียกว่า “กระหม่อม”ทั้งนี้เพื่อให้รูปหัวของเด็กเปลี่ยนแปลงได้
ในขณะที่ผ่านช่องคลอดของแม่ใบหน้าของเด็กแรกเกิดจะดูบวมโดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา
คุณอาจเห็นเด็กมีขี้ตาติดอยู่เนื่องจากพยาบาลได้หยอดยาฆ่าเชื้อโรคให้
สำหรับเด็กผู้หญิงคุณไม่ต้องกังวลเมื่อเห็นจมูกแบนจมูกจะโด่งขึ้นเมื่อโต
คุณอาจเห็นสายสะดือมีสีคล้ำ ๆ น่าเกลียดอวัยวะเพศของเด็กชายจะดูเหมือนว่าบวม
ของเด็กหญิงก็ดูผิดรูปผิดร่างซึ่งก็จะดีขึ้นเองตามธรรมชาติ
เด็กจะนอนท่าเดียวกับตอนที่อยู่ในท้องแม่ปกติเด็กซึ่งเอาหัวออกก่อน
จะนอนตัวงอเอาคางชิดหน้าอก มือกำงอแขนงอขาเข้าหาตัว
ที่ก้นอาจเห็นมีรอยสีเขียว ๆเรียกว่า “ปานเขียว” (Mongolian Sport)
ซึ่งจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น ตามคอ เปลือกตา จมูกอาจมีไฝสีแดงขนาดเท่าเมล็ดข้าวหรือถั่วแดง
ซึ่งก็จะหายไปเองภายในหนึ่งปีถึงแม้อากาศจะร้อน
เหงื่อของเด็กแรกเกิดจะยังไม่ออกน้ำลายก็ยังไม่ไหล เพราะท่อขับสิ่งเหล่านี้ยังไม่ทำงาน
ตายังมองไม่เห็น แต่จะได้ยินเสียงดัง ๆถ้าลองปิดประตูดังปังจะสะดุ้งอุณหภูมิร่างกายของเด็กเมื่อแรกเกิดจะเท่ากับของแม่หลังจากนั้นจะลดลงประมาณ 1-3 องศาเซลเซียสและต่อมาอีก 8 ชั่วโมง อุณหภูมิจะขึ้นไปอีก(ราวประมาณ 36.8 – 37.2 องศาเซลเซียส)เด็กจะหายใจประมาณ 34-35 ครั้งต่อนาที
ชีพจรเต้น 120-130 ครั้งต่อนาที

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทักษะการสอนศิลปะของเด็กปฐมวัย

ทักษะการสอนศิลปะของเด็กปฐมวัย

ที่มา  :  บทความจากจุลสารเพื่อนอนุบาล แผนกอนุบาล
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

ป้าลูกเกด
             ศิลปศึกษา เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กในวัยปฐมวัย เพราะประสบการณ์ทางศิลปะนั้น  ไม่เพียงส่งเสริมการริเริ่มสร้างสรรค์เท่านั้น  หากยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็กในลักษณะบูรณาการ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าการจัดประสบการณ์และกิจกรรมในลักษณะนี้มีคุณค่าและเอื้อต่อเด็กมากที่สุด  ประสบการณ์ศิลปะส่งเสริมพัฒนาการและทักษะของเด็ก ดังนี้
            - พัฒนาการทางด้านร่างกาย : พัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก และพัฒนาประสาทสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ
            - พัฒนาการทางด้านสังคม : มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น  เรียนรู้จากกันและกัน (cooperative learning)  แลกเปลี่ยนและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น   การรู้จักแบ่งปัน
            - พัฒนาการทางด้านอารมณ์-จิตใจ : สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  (confidence) เห็นคุณค่าและภูมิใจในตนเอง (self- esteem)  การคิดดีและชื่นชมในผลงานของผู้อื่น  สร้างวินัยและความรับผิดชอบ  มีสุนทรียภาพ
            - พัฒนาการทางด้านสติปัญญา : มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ  รู้จักแก้ปัญหา  ทำงานแบบมีระบบ (วางแผน ตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติ) รู้จักคิดและชี้แจงเหตุผล  สังเกต และเปรียบเทียบ ใช้สัญลักษณ์แทนวัตถุหรือประสบการณ์ในการสื่อความหมาย (ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในพัฒนาการทางด้านการคิดของเด็ก) มีทักษะทางด้านภาษา  ด้านคณิตศาสตร์  และด้านวิทยาศาสตร์
            คุณครูเป็นส่วนสำคัญในการจัดประสบการณ์ทางศิลปะที่ส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็ก  ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณครูต้องความเข้าใจการจัดกิจกรรมและบทบาทของตน  ในการจัดประสบการณ์ศิลปะ
คุณครูควร
            1.จัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ให้พร้อม และพอเพียงต่อความต้องการ ของนักเรียน  ในการเตรียมสถานที่นั้น  คุณครูควรจัดเนื้อที่ให้นักเรียนทำงานและเคลื่อนไหวได้สะดวก และปลอดภัย  อุปกรณ์ที่จัดให้ควรมีเพียงพอต่อนักเรียน เช่น ถ้ามีนักเรียน 5 คนที่วาดรูปด้วยสีโปสเตอร์  คุณครูควรที่จะเตรียมพู่กัน 5 อัน และจัดสี 1 ชุด ต่อนักเรียน 1-2 คน เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ต้องรอคิวนาน  และรีบเร่งทำงานเพื่อที่จะแบ่งอุปกรณ์ให้กับเพื่อนที่รออยู่  หากในห้องเรียนมีอุปกรณ์น้อย  คุณครูควรที่จะกำหนดจำนวนนักเรียนที่จะเข้าร่วมในกิจกรรม  และใช้วิธีผลัดกัน
            2.กิจกรรมที่จัดควรเป็นกิจกรรมปลายเปิด  เช่น  ระบายสีด้วยสีเทียน และสีโปสเตอร์ตามอิสระ เพื่อที่นักเรียนจะได้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ด้วยตนเอง  มีอิสระในการสร้างสรรค์  ใช้ความคิดได้อย่างเต็มที่  รู้จักที่จะเลือกและตัดสินใจ (เลือกว่าจะวาดอะไร) และเรียนรู้ที่จะสื่อความคิดตนออกมาในรูปแบบที่ตนต้องการ
            3.กิจกรรมที่จัดควรมีความเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ  (Developmental Appropriate) ในการจัดกิจกรรม คุณครูควรคำนึงถึงพัฒนาการของผู้เรียน กิจกรรมศิลปะควรมีความเหมาะสมต่อความสามารถของเด็กในวัยนั้น ๆ  กิจกรรมบางอย่างถึงแม้ว่าเป็นกิจกรรมศิลปะให้เด็ก  แต่มันอาจจะไม่เหมาะกับเด็กในวัยปฐมวัย เช่น การพับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ (origami)  จัดว่าไม่เหมาะสมสำหรับเด็กในวัยปฐมวัย  เนื่องจากมีขั้นตอนหลายขั้นและซับซ้อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักเรียนต้องทำตามรูปแบบที่กำหนดขั้นโดยดูครูเป็นตัวอย่าง และนักเรียนส่วนมากไม่สามารถทำทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง และต้องรับความช่วยเหลือจากครูเกือบตลอดเวลา  ซึ่งบางทีครูกลายเป็นคนพับเสียเอง การที่นักเรียนส่วนมากต้องการความช่วยเหลือตลอดกิจกรรมนั้น แสดงให้เห็นว่า พัฒนาการของเด็กยังไม่พร้อมที่เขาจะทำงานประเภทนี้ได้ 
            4.Process not  product  คุณครูควรเน้นที่กระบวนการมากกว่าผลงาน  ระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมศิลปะ  เขาได้ใช้กระบวนการการคิดต่าง ๆ  เพื่อที่จะสื่อความรู้สึกนึกคิดลงบนกระดาษ  การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน  ผลงานเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงาน 
            5.ตั้งความคาดหวังให้เข้ากับวัยของนักเรียน  เป็นเรื่องปกติที่คุณครูจะคาดหวังในนักเรียนของตน  หากแต่ความคาดหวังที่ตั้งขึ้นนั้น  ควรมีความเหมาะสมกับวัย  เช่น  เด็กวัย 3 ปี ยังเป็นช่วงเวลาที่เด็กเริ่มสนใจและเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ   กล้ามเนื้อมือนั้นยังไม่    แข็งแรงพอ  ที่จะบังคับทิศทางของอุปกรณ์ได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ การที่คุณครูคาดหวังให้เด็กในวัยนี้  ระบายสีโดยไม่ออกนอกเส้น  หรือวาดรูปเป็นรูปร่างเจาะจงนั้น  คุณครูสร้างความคาดหมายที่ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในวัยนั้น  ดังนั้นในการที่ครูจะรู้ว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไรให้เหมาะสม   ครูต้องมีความเข้าใจและความรู้เรื่องพัฒนาการของผู้เรียนของตน  และมีความรู้เรื่องการจัดกิจกรรมศิลปะ เพื่อที่จะตั้งเป้าหมายและความหวังให้เข้ากับผู้เรียน
            6.ให้ความสนใจและคุณค่าต่อกระบวนการทำงานและผลงานของนักเรียน  ซึ่งทำได้โดย พูดคุยกับนักเรียน  และมีการนำเสนอผลงาน  การที่คุณครูนำเสนอผลงานของนักเรียน  โดยการติดไว้ในที่บอร์ดในห้อง บ่งบอกให้นักเรียนรับรู้ว่า  งานของเขามีคุณค่า  ซึ่งจะทำให้เขาจะรู้สึกชื่นชมและภูมิใจในความสามารถของตน  การพูดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจของครูที่มีต่อการทำงานของนักเรียน  ซึ่งเฌอเม็คเคอร์ (1986) แนะนำว่าในการสนทนากับเด็ก คุณครูควรให้เด็กพูดและแสดงความคิดเห็นของตนโดยที่ครูไม่ควรที่จะเปรียบเทียบ หรือแก้ไขผลงานของเด็ก และแนะนำว่า  เวลาพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับงานศิลปะ  ครูควรพูดถึงวิธีการใช้อุปกรณ์  และการใช้องค์ประกอบทางศิลปะ (elements of art) ในการวาดภาพ เช่น การใช้สี วิธีการวาดลายเส้น รูปทรง การจัดวางช่องว่างและใช้เนื้อที่ (space) เป็นต้น  (Schirrmacher, 1986) ตัวอย่าง เช่น “ในภาพนี้ คุณครูสังเกตว่า  มีเส้นหลายชนิด มีเส้นตรงข้างบน  เส้นโค้งบนมุมขวามือ ...” “หนูใช้ความพยายามมากเลยในการตัดกระดาษให้เป็นสามเหลี่ยมอันเล็ก ๆ” “ครูสังเกตว่าเวลาหนูวางขนแปรงให้แบนบนกระดาษและลากเส้นลงมา เส้นที่ออกมาจะหนา” เป็นต้น  การที่ครูพูดถึงงานของเด็กในลักษณะนี้   เป็นการส่งเสริมทักษะทางด้านภาษา  และแสดงให้เด็กเห็นว่าตัวครูมีความสนใจในกระบวนการทำงาน และให้คุณค่าต่องานของเขา  ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตนเอง  เชื่อมั่นในความสามารถและทักษะของตน  
            7.สนทนากับนักเรียน เรื่องการดูแลรักษา  การใช้อุปกรณ์   และกติกาในการปฏิบัติกิจกรรม  ในระยะเริ่มต้น  ก่อนที่จะทำกิจกรรม  ครูควรที่จะพูดคุยให้เหตุผลกับนักเรียนเกี่ยวกับการดูแลรักษาอุปกรณ์  เช่น  การที่จะให้นักเรียนทำการตัดแปะ  ครูอาจจะพูดและสาธิตให้นักเรียนดูว่า เมื่อใช้กรรไกรเสร็จแล้ว  ควรเก็บไว้ในตะกร้าเหมือนเดิม  หรือใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน เช่น ถ้าครูเห็นนักเรียนเหยียบกรรไกร  คุณครูควรอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าทำไมไม่ควรเหยียบ  และสอนให้นักเรียนรู้จักช่วยกันรักษาสมบัติของห้องเรียน 
            8.กำหนดเวลาให้เหมาะสม  กิจกรรมศิลปะควรจัดให้เป็นกิจกรรมประจำวัน เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เด็กให้ความสนใจมาก และเป็นส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน และทักษะทางด้านต่าง ๆ  ซึ่งในการจัดกิจกรรม ครูควรตั้งเวลาให้เหมาะสมกับกิจกรรม  การที่ครูตั้งเวลาไว้น้อย และเร่งเด็กให้ทำงานเสร็จภายในเวลาอันสั้นนั้น สิ่งที่สื่อออกมา คือ  กระบวนการทำงานนั้นไม่สำคัญเท่าการทำให้เสร็จในเวลา  ดังนั้น   เด็กก็จะรีบทำงานให้  เสร็จ ๆ ไป และไม่ใส่ใจในการทำงาน  เป็นปกติที่เด็กแต่ละคนจะใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมแตกต่างกัน   ดังนั้นคุณครูควรมีความยืดหยุ่นในเวลา  ถ้านักเรียนทำงานไม่เสร็จ  คุณครูอาจจะให้เวลาเพิ่มเติม หรือให้เขาเก็บงานไว้ทำในวันต่อไป
            9.ให้นักเรียนมีส่วนร่วม (Students’ Involvement) นักเรียนควรมีส่วนร่วมในการจัดเตรียม และทำความสะอาด เช่น ช่วยหยิบและเก็บกระดาษ  และตะกร้าใส่ดินสอสี  หรือช่วยเช็ดโต๊ะ  เพื่อที่เขาจะได้รู้จักการช่วยเหลือตนเอง  และเข้าใจถึงหน้าที่และรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และห้องเรียน 

ข้อควรระวังในการจัดประสบการณ์ศิลปะ
            1.ให้คะแนน หรือรางวัล เช่น ดาว สติกเกอร์ เป็นต้น  การให้คะแนนหรือรางวัลนั้น  คุณครูบางท่านอาจจะมองว่า  เป็นการสร้างแรงเสริมให้กับเด็ก  แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เด็กจะได้ก็คือ  ความไม่กล้าที่จะลองเพราะกลัวว่าออกมาไม่สวย  ได้คะแนนไม่ดี  ความกลัวว่าผลงานของตนจะไม่ดีพอไม่สวยพอ  เปรียบเทียบและแข่งขันกับเพื่อน  นอกจากนี้ยังทำให้เด็กคิดว่าการทำงานต้องมีผลทางวัตถุตอบแทน  จึงให้ความสนใจที่ผลตอบแทนมากกว่ากระบวนการเรียนรู้   และยังจำกัดความคิดและสร้างสรรค์อย่างอิสระ 
            เนื่องจากนักเรียนมุ่งหวังที่จะสร้างผลงานให้ถูกใจครู  เพื่อที่จะได้รับคะแนนดีหรือรางวัล  ซึ่งจริง ๆ แล้วศิลปะนั้นถือว่าเป็นการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดอย่างหนึ่งของแต่ละบุคคล  ดังนั้นศิลปะไม่ควรถูกมองว่ามีถูกหรือผิด  มีสวยมากหรือสวยน้อย  มีดีมากหรือดีน้อย  การที่เราให้คะแนน หรือรางวัล  ถือว่าเป็นการตั้งกฎเกณฑ์เพื่อตัดสินความคิด ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวนั้น  ไม่มีมาตรฐานเพราะขึ้นอยู่กับความคิดและความพอใจของผู้สอนแต่ละบุคคล  จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่ครูจะตัดสินผลงานของเด็กด้วยการให้คะแนน หรือรางวัล 
            2.ให้นักเรียนระบายสี และตัดแปะกระดาษในกรอบ  ศิลปะเป็นการสื่อความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจ  โดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ สื่อสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นรูปธรรม    การให้นักเรียนทำงานศิลปะที่มีกรอบกำหนดนั้น (pre-draw)  เป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก  เนื่องจากรูปถูกกำหนดตายตัวไว้แล้ว  นักเรียนไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนตามจินตนาการของตนได้   และต้องทำตามแบบฉบับที่ถูกกำหนดไว้  
            ครูควรคำนึงว่า  งานศิลปะนั้นเป็นงานที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์  ไม่ใช่ กิจกรรมที่เน้นความสวยงามในแบบที่ผู้ใหญ่คาดหวังไว้  กิจกรรมศิลปะควรเป็นกิจกรรมปลายเปิดที่ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ  และสร้างสรรค์ผลงานตามความรู้สึกของตน
            3.ใช้กระดาษที่ตัดเป็นรูปร่างสำเร็จแล้ว  การใช้กระดาษที่ตัดเป็นรูปร่างสำเร็จ (pre-cut shapes) ในการตัดแปะนั้น  สิ่งที่เด็กจะได้รับก็คือ การรู้จักแปะรูปด้วยกาว และการจัดวางเพื่อให้เกิดความเหมือน  กิจกรรมในลักษณะนี้เป็นงานที่จำกัดความคิดสร้างสรรค์  และเน้นเพียงความสวยงามและความเหมือนซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจและความคิดของผู้สอน  กิจกรรมไม่ได้สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก   ดังนั้นคุณครูควรหลีกเหลี่ยงการตัดกระดาษสำเร็จรูปให้นักเรียน  ควรให้นักเรียนฉีก ตัด กระดาษเป็นรูปร่าง  ต่าง ๆ ตามความคิดส่วนตัว 

            4.วาดรูปเป็นตัวอย่างให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง  การที่คุณครูวาดภาพให้เด็กดูเป็นตัวอย่างนั้น  ส่งถึงผลเสียมากกว่าผลดี  เพราะเป็นธรรมดาที่เด็กนั้นจะชื่นชมผลงานของครู  และต้องการที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ได้เหมือนกับของผู้ใหญ่ และเมื่อเขาไม่สามารถทำให้เหมือนได้  เขาก็จะรู้สึกท้อแท้ ผิดหวังในตนเอง และจะทำให้เขารู้สึกไม่ดีต่อกิจกรรมนั้น ๆ และต่อตนเอง    
            5.ช่วยแก้ปัญหา  โดยการทำให้  เวลาที่นักเรียนวาดอะไรไม่ได้  บางทีคุณครูก็จะช่วยด้วยการทำให้   ซึ่งวิธีนั้นทำให้นักเรียนไม่รู้จักอดทนต่อการแก้ปัญหา และไม่พยายามเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง  ถ้านักเรียนวาดรูปไม่ได้  ครูควรพูดแนะนำเพื่อทำให้ขั้นตอนการวาดง่ายขึ้น  และใช้คำถามกระตุ้นเพื่อเด็กคิด  เช่น “หน้าของหมามีรูปทรงอย่างไง เป็นสี่เหลี่ยม หรือวงกลม และตัวหมาเป็นรูปทรงอะไร  ” หรือ ให้แนะนำให้เด็กรู้จักการค้นคว้าและหาข้อมูลรอบตัวในการแก้ปัญหา เช่น  “เราลองไปหารูปหมาในหนังสือเป็นตัวอย่างดีไหม  บางทีการที่เราได้เห็นรูป ”

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเลี้ยงลูกให้ฉลาด

30 วิธีแสนง่ายในการเลี้ยงลูกให้ฉลาด

30 วิธีง่ายๆ ต่อไปนี้อาจช่วยขยายไอเดียของคุณ ๆ ได้ หากลูกคุณยังไม่ได้ดั่งใจ แต่อย่างใดก็ตามเด็กก็คือเด็ก เป็นผ้าขาวของสังคม เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา ก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงให้เขาเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น วิธีต่างๆ เหล่านี้ผ่านการวิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง และสรุปผลมาแล้วจากนักวิชาการว่าใช้ได้ผลดีมาแล้วทั่วโลก
 1.ตามองตา 
เมื่อลูกลืมตาตื่นขึ้น ให้เรามองหน้าสบสายตาหนูน้อยสักครู่ หนูน้อยแรกเกิดจดจำใบหน้าของคนได้เป็นสิ่งแรกเสมอ และใบหน้าของพ่อแม่คือใบหน้าแรกที่ลูกอยากจะจดจำ ซึ่งแต่ละครั้งที่หนูน้อยจ้องมองใบหน้าของเรา สมองก็จะบันทึกความทรงจำไว้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
 2.พูดต่อสิลูก
เวลาพูดกับลูก เว้นช่องว่างในช่วงคำง่าย ๆ ที่ลูกจะสามารถพูดต่อได้ เช่น พยางค์สุดท้ายของคำ หรือคำสุดท้ายของประโยค ในช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะเงียบและทำหน้างง แต่ในที่สุดถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ ในประโยคซ้ำ ๆ ลูกจะค่อย ๆ จับจังหวะ จับคำพูดบางคำได้ และเริ่มพูดต่อในช่วงว่างที่พ่อแม่หยุดไว้ให้
 3.ฉลาดเพราะนมแม่ 
ให้นมแม่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลการศึกษาในเด็กวัยเรียนพบว่า เด็กที่กินนมแม่ตอนที่เป็นทารกมักจะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ นอกจากนี้การให้นมลูกยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อย
 4. ทำตลกใส่ลูก 
แม้กระทั่งเด็กน้อยอายุเพียงแค่ 2 วัน ก็มีความสามารถเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าอย่างง่าย ๆ ของพ่อแม่ได้ ไม่เชื่อลองแลบลิ้นหรือทำหน้าตาตลก ๆ ใส่ ลูกคุณจะทำตามแน่ ๆ
 5.กระจกเงาวิเศษ 
ทารกน้อยเกือบทุกคนชอบส่องกระจก เขาจะสนุกที่ได้เห็นเงาของตัวเองในกระจกโบกมือหรือยิ้มแย้มหัวเราะตอบออกมาทุกครั้ง
 6.จั๊กจี้ จั๊กจี้
การหัวเราะเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านอารมณ์ขัน การเล่นปูไต่ทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการคาดเดาเหตุการณ์ด้วยว่า ถ้าพ่อแม่เล่นอย่างนี้แสดงว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ปูจะไต่จากไหนไปถึงไหนเป็นต้น
 7.สองภาพที่แตกต่าง 
ถือรูปภาพ 2 รูป ที่คล้ายกันให้ลูกมอง โดยวางให้ห่างจากใบหน้าของลูกประมาณ 8-12 นิ้ว เช่น ภาพรูปบ้านที่เหมือนกันทั้งสองรูป แต่อีกรูปหนึ่งมีต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ข้างบ้าน แม้ยังเป็นเด็กทารกแต่เขาสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างนี้ได้ เป็นการสร้างความจำที่จะเป็นพื้นฐานในการจดจำตัวอักษรและการอ่านสำหรับลูกต่อไป
 8.ชมวิวด้วยกัน
พาลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน และบรรยายสิ่งที่เห็นให้ลูกฟัง เช่น โอ้โหต้นไม้ต้นนี้มีนกเกาะอยู่เต็มเลย ดูสิลูกบนนั้นมีนกด้วย การบรรยายสิ่งแวดล้อมให้ลูกฟังสร้างโอกาสการเรียนรู้คำศัพท์ให้กับลูก
 9.เสียงประหลาด 
ทำเสียงเป็นสัตว์ประหลาด คุ๊กคู ๆ หรือทำเสียงสูง ๆ เลียนแบบเสียงเวลาที่เด็ก ๆ พูด ทารกน้อยจะพยายามปรับการรับฟังเสียงให้เข้ากับเสียงต่าง ๆ จากพ่อแม่
 10.ร้องเพลงแสนหรรษา 
สร้างเสียงและจังหวะส่วนตัวระหว่างเราและลูกน้อยขึ้นมา เช่น เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก อาจจะเป็นกลอนสั้น ๆ แล้วใส่เสียงสูงต่ำแบบการร้องเพลงเข้าไป หรืออีกทางคือเปิดเพลงชนิดต่าง ๆ ให้ลูกฟังบ้าง เช่น บางวันอาจจะเป็นลูกทุ่ง บางวันเป็นเพลงบรรเลง หรือเพลงป๊อปยอดฮิตทั่วไป มีนักวิจัยค้นพบว่า จังหวะดนตรีเกี่ยวพันกับการเรียนรู้คณิศาสตร์ของลูก
11.มีค่ามากกว่าแค่อาบน้ำ
เวลาในการอาบน้ำสอวนให้ลูกรู้จักส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการอาบน้ำ การบรรยายให้ลูกฟังไปด้วยว่ากำลังทำอะไรและจะทำอะไรต่อไปเท่ากับเป็นการสอนคำศัพท์ และช่วยให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันไปในตัว
 12.อุทิศตัวเป็นของเล่น 
ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องเล่นราคาแพงไว้ให้ลูกบริหารร่างกาย เพียงแค่คุณพ่อหรือคุณแม่นอนราบลงไปบนพื้น และปล่อยให้หนูพยายามคลานข้ามตัวไป แค่นี้ร่างกายของคุณพ่อคุณแม่ก็จะกลายเป็นสนามเด็กเล่นที่ราคาถูกที่สุด และสนุกที่สุดสำหรับหนูน้อยได้พัฒนากล้ามเนื้อให้ทำงานสัมพันธ์ และเรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาไปพร้อมกัน
 13.พาลูกไปช็อปปิ้ง 
นาน ๆ ครั้งพาลูกน้อยไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาเก็ตด้วยก็ไม่เสียหาย ใบหน้าผู้คนอันหลากหลาย รวมถึงแสง สี เสียง ในห้างสรรพสินค้า คือ สิ่งบันเทิงใจสำหรับหนูน้อยเชียวล่ะ
 14.ให้ลูกมีส่วนร่วม 
พยายามให้ลูกได้มีส่วนร่วมในกิจวัตรต่าง ๆ เช่น ถ้ากำลังจะปิดไฟก็อาจจะบอกลูกว่า แม่กำลังจะปิดแล้วนะ เสร็จแล้วจึงกดปิดสวิชต์ไฟ นี่จะเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุและผล ลูกน้อยจะเรียนรู้ว่าเมื่อคุณแม่กดสวิชต์ หลอดไฟจะปิดเป็นต้น
 15.เสียงและสัมผัสจากลมหายใจ
ช่วยให้ลูกน้อยกระปรี้กระเปร่าขึ้นด้วยการเป่าลมเบา ๆ ไปตาม ใบหน้า มือ แขน หรือท้องของลูก หาจังหวะในการเป่าของตัวเอง เช่น เป่าเร็ว ๆ สลับกับช้า หรือเป่าแล้วตามด้วยเสียงต่าง ๆ ตามแต่จินตนาการของคุณพ่อคุณแม่ แล้วรอดูปฏิกริยาตอบสนองจากลูก
 16.ทิชชู่หรรษา 
ถ้าลูกชอบดึงกระดาษทิชชู่ออกจากม้วน ปล่อยเขาค่ะ อย่าห้าม แต่อาจใช้กระดาษทิชชู่ม้วนที่เราใช้ไปพอสมควรแล้ว จนเหลือกระดาษอยู่เพียงเล็กน้อย เพราะการที่เด็กน้อยได้ขยำหรือขยี้กระดาษให้ยับย่น หรือพับให้เรียบนั้นเป็นการฝึกประสาทสัมผัสและการใช้มือของลูกเป็นอย่างดี
 17.อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
การอ่านหนังสือช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องภาษาได้จริง ๆ มีผลการวิจัยออกมาว่า แม้กระทั่งเด็กอายุ 8 เดือน สามารถเรียนรู้จดจำการเรียงลำดับคำในประโยคที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังซ้ำ 2-3 ครั้งได้ ดังนั้น ควรจัดเวลาในแต่ละวันอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ
 18.เล่นซ่อนหาจ๊ะเอ๋ 
การเล่นจ๊ะเอ๋นี้นอกจากจะทำให้ลูกหัวเราะแล้ว ยังช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อสิ่งของหายไปแล้วสามารถกลับคืนมาได้อีก
 19.สัมผัสที่แตกต่าง 
หาสิ่งของที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน เช่น ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ไม้ หรือผ้าฝ้าย ค่อย ๆ นำพื้นผิวแต่ละอย่างไปสัมผัสแก้ม เท้า หรือท้องลูกเบา ๆ ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็บรรยายให้ลูกฟังไปด้วยว่าความรู้สึกเมื่อถูกสัมผัสเป็นอย่างไร เช่น นี่จั๊กจี้นะลูก ส่วนอันนี้นุ๊ม นุ่ม ใช่ไหม เป็นต้น
 20.ให้ลูกผ่อนคลายและอยู่กับตัวเองบ้าง
ให้เวลาประมาณ 5-10 นาที ในแต่ละวัน นั่งเงียบ ๆ สบาย ๆ กับลูกน้อยบนพื้นบ้าน ไม่ต้องเปิดเพลง เปิดไฟ หรือเล่นอะไรกัน ปล่อยให้ลูกได้สำรวจสิ่งต่าง ๆ ตามใจชอบ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องไปยุ่งกับลูกเลยและรอดูว่าใช้เวลาสักเท่าไรหนูน้อยจึงจะคลานมาขอเล่นกับคุณพ่อคุณแม่อีกครั้ง นี่เป็นการฝึกความเป็นตัวของตัวเองให้ลูกขั้นแรก
 21.ทำอัลบั้มรูปครอบครัว
นำรูปภาพของญาติ ๆ มาใส่ไว้ในอัลบั้มเดียวกัน และนำออกมาให้ลูกดูบ่อย ๆ เพื่อให้จดจำชื่อญาติแต่ละคน แล้วเวลาที่คุณปู่ หรือคุณย่าโทรศัพท์มา ก็นำรูปท่านออกมาให้ลูกดูพร้อมกับที่ให้ลูกฟังเสียงของท่านจากโทรศัพท์ไปด้วย
 22.มื้ออาหารแสนสนุก 
เมื่อถึงเวลาที่ลูกสามารถกินอาหารเสริมที่หลากหลายมากขึ้นได้แล้ว อย่าลืมจัดอาหารของลูกให้มีชนิด ขนาดและพื้นผิวที่หลากหลาย เช่น มีทั้งผลไม้ชิ้นเล็ก เส้นพาสต้า มักกะโรนี หรือซีเรียล ปล่อยให้ลูกน้อยใช้มือจับอาหารถ้าลูกอยากทำ เป็นการฝึกใช้นิ้ว และฝึกใช้ประสาทสัมผัสเมื่อได้สัมผัสกับอาหารที่มีลักษณะแตกต่างกัน
 23.เด็กชอบทิ้งของ 
บางครั้งดูเหมือนเด็กชอบทิ้งของลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พฤติกรรมนี้เกิดจากเด็กทดสอบเรื่องแรงโน้มถ่วงว่าจะตกลงสู่พื้นทุกครั้งหรือไม่
 24.กล่องมายากล
หากล่องหรือตลับที่เหมือนกันมาสักสามอัน แล้วซ่อนของเล่นชิ้นโปรดของลูกไว้ในกล่องใบหนึ่ง สลับกล่องจนลูกจำไม่ได้ แล้วให้ลูกค้นหาของเล่นชิ้นนั้นจนเจอ นี่เป็นเกมฝึกสมองอย่างง่ายสำหรับเด็ก
25.สร้างอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ
กระตุ้นทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อให้ลูก โดยนำเบาะ โซฟา หมอน กล่อง หรือของเล่นวางขวางไว้บนพื้น แล้วพ่อแม่ก็แสดงวิธีคลานข้าม ลอด หรือคลานรอบ ๆ สิ่งกีดขวางเหล่านี้ได้อย่างไร
26.เลียนแบบลูกบ้าง
เด็กชอบให้พ่อแม่ทำอะไรตามเขาในบางครั้ง เช่น เลียนแบบท่าหาวของลูก แกล้งดูดขวดนมของลูก ทำเสียงเลียนแบบเวลาที่ลูกส่งเสียงอ้อแอ้ หรือคลานในแบบที่ลูกคลาน การทำอย่างนี้กระตุ้นให้ลูกแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ออกมา เพราะอยากเห็นปฏิกิริยาตอบสนองของพ่อแม่ นี่คือก้าวแรกของลูกสู่การมีความคิดสร้างสรรค์
27.จับใบหน้าที่แปลกไป 
ลองทำหน้าตาแปลก ๆ เช่น ขมวดคิ้ว แยกเขี้ยว แลบลิ้นให้ลูกดู เวลาลูกเห็นพ่อแม่ทำหน้าตาตลก หนูน้อยจะอยากลองจับ ปล่อยให้ลูกได้ลองจับต้องใบหน้าของพ่อแม่ แล้วสร้างเงื่อนไขบางอย่างขึ้นมา เช่น ถ้าลูกจับจมูกจะทำเสียงแบบนี้ ถ้าจับแก้มจะทำเสียงอีกแบบหนึ่ง ทำแบบนี้ 3-4 รอบ แล้วจึงเปลี่ยนเงื่อนไขไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกแปลกใจ
28.วางแผนคลานตามกัน 
ลองคลานเล่นไปกับลูกให้ทั่วบ้าน คลานช้าบ้าง เร็วบ้างและหยุดหรือพ่อแม่อาจจะวางของเล่นที่น่าสนใจ หรือจัดบ้านในบางมุมให้แปลกไปก่อนที่จะมาคลานเล่นกับลูกเพื่อไปสำรวจตามจุดต่าง ๆ ที่จัดไว้ตามแผน
29.เส้นทางแห่งความรู้สึก
อุ้มลูกน้อยเดินไปทั่วบ้านในวันฝนตก จับมือลูกไปสัมผัสหน้าต่างที่เย็นชื้น หยดน้ำที่เกาะบนใบไม้ ต้นไม้ หรือสิ่งของอื่น ๆ ในบ้านที่จับต้องได้อย่างปลอดภัย เป็นการเปิดประสาทสัมผัสของลูกสู่ความรู้สึกต่าง ๆ เมื่อได้แตะต้องสิ่งของเย็น เปียก หรือความลื่น
30.เล่าเรื่องของลูก
เลือกนิทานเรื่องโปรดของลูก แต่แทนที่จะเล่าอย่างที่เคยเล่า ลองใส่ชื่อของลูกลงไปแทนที่ชื่อตัวละครตัวสำคัญของเรื่อง เพื่อให้หนูน้อยรู้สึกแปลกใจและสนุกสนานไปกับชื่อของตัวเองในนิทาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย


ดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย

  กิจกรรมดนตรีที่เหมาะกับเด็ก ได้แก่ กิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่นการร้องเพลง เล่นเกมประกอบเพลง และบรรเลงเครื่องดนตรีอย่างง่าย เป็นต้น  เด็กจะสนุกกับกิจกรรมที่เขาได้ออกความคิด ได้เคลื่อนไหว ได้ใช้ภาษา บรรเลงเครื่องดนตรี และร้องเพลง กิจกรรมดนตรีจะเป็นพื้นฐาน ของเด็กในการที่จะพัฒนาการดนตรีของเขาให้ดีขึ้นในอนาคต
เด็กเรียนจบชั้นอนุบาลเขาควรมีความสามารถดังนี้
         -   ใช้เสียงร้องเพลงให้แตกต่างจากเสียงพูด
         -   ร้องเพลงได้ชัดเจนไม่เพี้ยน
         -   เขารู้จักจังหวะ เร็ว - ช้า พลังเสียง ดัง - เบา
การสอนดนตรี

         การสอนดนตรี การศึกษาพัฒนาการเด็กตามองค์ประกอบสามประการของดนตรี ได้แก่ การเคลื่อนไหว การฟัง และการร้องเพลง จะช่วยให้ครูจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมแก่เด็ก  การเคลื่อนไหว(Moving) เด็กเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่เป็นทารก หรือแม้แต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา เดือนแรกๆ เด็กจะเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อศรีษะก่อน หลังจากนั้นจึงจะเคลื่อนไหวไหล่ แขน ลำตัว และขา การพัฒนาการเคลื่อนไหวก็เริ่มจากกล้ามเนื้อใหญ่ไปกล้ามเนื้อเล็ก การควบคุมการเคลื่อนไหว เริ่มตั้งแต่ส่วนกลางของร่างกาย แล้วขยายออกไป เด็กยกศรีษะได้ก่อนนั่ง ยืนหรือเดิน แล้วพัฒนาถึงขั้นหยิบไม้บล็อกด้วยมือทั้งมือก่อนจะสามารถหยิบด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้


คุณค่าดนตรีต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย              

     ผลจากคุณค่าของเสียงดนตรีที่มีต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจของเด็ก นักจิตวิทยาสังคมต่างให้การยอมรับและได้กล่าวถึงคุณค่าของดนตรีไว้ว่า
          1.  ดนตรีก่อให้เกิดความสว่างแก่จิตใจ ( Enlightenment)
          2.  ดนตรีก่อให้เกิดความสุข ( Well - Being)
          3.  ดนตรีก่อให้เกิดความผูกพันรักใคร่ ( Affection)
                     ดนตรีเป็นศาสตร์ หรือวิชาที่ทำให้เด็กระดับปฐมวัยได้รับการพัฒนาทุก ๆ ด้านของการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นความรู้    ความจำ สังคม   ค่านิยม การคิดหาเหตุผล การสร้างสรรค์ การพัฒนากล้ามเนื้อ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า    การพัฒนาตนเองให้เข้ากับกลุ่ม    หรือสภาพแวดล้อมของสังคมต่าง ๆ ดนตรีจึงน่าจะเป็นวิชาเดียวเท่านั้นที่ทำให้เด็กสนุกสนานรื่นเริงอย่างเต็มที่    ทั้งการแสดงออกทางร่างกาย    ความคิด ตลอดจนพัฒนาการทางจิตใจ อารมณ์ และนอกจากนี้ ดนตรีนอกจากนี้ ดนตรียังสามารถนำไปสัมพันธ์  เชื่อมโยงหรือบูรณาการ    กับวิชาการ องค์ความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ แก่เด็กปฐมวัยอย่างสำคัญทีเดียว    ประการสำคัญดนตรีเป็นตัวจักรสำคัญที่ใช้ในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย ดังนี้
ดนตรีช่วยเสริมสร้างพัฒนาด้านสุขภาพและพลานามัยของเด็กปฐมวัย

           การเล่นเครื่องดนตรีหรือการร้องเพลงของเด็กนั้น น่าจะไม่เพียงแต่นั่งร้องหรือขับร้องเท่านั้น แต่เด็กทุกคนชอบ และพอใจที่จะทำท่าทางประกอบไปด้วย เนื่องจากเด็กในระดับปฐมวัยชอบเปลี่ยนอิริยาบทชอบการเคลื่อนไหว กระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะท่วงทำนองของเพลง ดังนั้น เพลงและดนตรีจึงสามารถใช้เป็นสิ่งเร้าเพื่อพัฒนาการเคลื่อน ไหว ทั้งการเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ การเคลื่อนไหวเพื่อดนตรี การเคลื่อนไหวเพื่อนาฎศิลป์ หรือการเต้นรำ รวมทั้งพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก ขน ขา ลำตัว นิ้วมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายตามจังหวะ ดนตรี จะเป็นการช่วยพัฒนาให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและพลานามัยที่สมบูรณ์ อันจะเป็นผลเกี่ยวโยงไปสู่จุดมุ่งหมายทาง การศึกษาที่มุ่งให้เด็กพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะด้านอื่น ๆ ซึ่งจะช่วย ให้เด็กปฐมวัยปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข

ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ - จิตใจของเด็กปฐมวัย

           เพลงและดนตรีช่วยพัฒนาอารมณ์ของเด็กในแง่การให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน สดชื่น ร่าเริง บางครั้งเด็กปฐมวัยจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง อาจทำให้เด็กเกิดความขัดแย้งหรือสับสน จึงทำให้เด็กมีปัญหาในด้านอารมณ์และจิตใจดนตรีจะสามารถช่วยบรรเทาหรือปรับอารมณ์เด็กได้อย่างดี ดนตรีสามารถช่วยให้เด็กได้แสดงออกตามความต้องการความรู้สึกและความสามารถ ช่วยถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของเด็ก ช่วยให้เด็กผ่อนคลายความเครียด ดังจะเห็นได้จากการ สังเกตเวลาเด็กร้องเพลงเล่นกัน เด็กจะมีหน้าตายิ้มแย้ม เบิกบาน แม้เด็กบางคนจะมีอารมณ์หงุดหงิด แต่เมื่อได้ร้องรำทำเพลงหรือได้ฟังเพลงสักครู่ก็จะค่อยคลายความไม่สบายใจลง เพราะความไพเราะของเพลง ลีลาและท่วงทำนองเพลงจะช่วยกล่อมอารมณ์ของเด็กให้เพลิดเพลินเป็นปกติได้อย่างดี นอกจากนี้แล้ว ดนตรียังพัฒนาอารมณ์ของเด็ก เกิดความบันเทิงใจ เพลิดเพลิน เกิดจินตนาการกว้างไกล อารมณ์เยือกเย็น สุขุม รักสวยรักงาม เห็นคุณค่าของดนตรี รักในเสียงเพลง เสียงดนตรี จากการสัมผัสดนตรีอยู่ในโลกของดนตรี ไม่เกิดความเหงา เห็นเสียงเพลงเสียงดนตรีเป็นเพื่อน เด็กจะเกิดความนุ่มนวลอ่อนโยนขึ้น ไม่แข็งกระด้าง ไม่เห็นแก่ตัว มีอารมณ์สุนทรีย์ละเอียดอ่อน การพัฒนาทางอารมณ์ของเด็กจะได้รับการกล่อมเกลาไปทีละเล็กละน้อย จนมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม อันเป็นผลพวงจากดนตรีนั่นเอง

ดนตรีช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย

           เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กปฐมวัยเป็นเด็กที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) เด็กจะสนใจตนเองมากกว่า ทำให้เด็กไม่ค่อยคิดถึงผู้อื่น สิ่งที่ควรแก้ไขให้รู้จักเอาใจผู้อื่น แบ่งปันสิ่งของ ร่วมเล่นกับเพื่อน รู้จักช่วยเพื่อน ๆ รู้จักใช้ถ้อยคำและกริยาอย่างเหมาะสม รู้จักรักและชื่นชมและให้อภัยต่อกัน ซึ่งสิ่งดังกล่าวสามารถใช้ดนตรีเป็นสื่อ เพราะดนตรีมีส่วนช่วยโน้มน้าวให้เด็กอยากเรียน อยากเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน โดยที่ไม่ต้องมีการบังคับแต่ประการใด วิธีหนึ่งที่จะให้เด็กได้พัฒนาด้านสังคม คือ ให้เด็กได้ร่วมร้องเพลงหรือทำกิจกรรมทางดนตรี แสดงบทบาทตามดนตรี จนกระทั่งเด็กเกิดความซาบซึ้งและเห็นคุณค่า เด็กจะพยายามเลียนแบบ ทั้งนี้ ครูและผู้เกี่ยวข้องต้องคอยย้ำและเตือนอยู่เสมอ จนกระทั่งเด็กได้พัฒนาพฤติกรรมทางสังคม เด็กที่ได้รับการพัฒนาทางด้านสังคมโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ ผู้เขียนคิดว่า เด็กจะเรียนรู้ถึงความเป็นไปของสังคมใกล้ตัวและสังคมรอบข้าง เด็กจะเป็นที่รักของสมาชิกและสังคม อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข สามารถปรับ
ตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ รู้จักพูดจา แสดงท่าทางเหมาะแก่กาลเทศะ ทำงานและเล่นกับผู้อื่นได้ดี ยอมรับฟัง ความคิดเห็นของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากการใช้ดนตรีเป็นสื่อในการพัฒนาสังคมของเด็กปฐมวัยโดยแท้
           นอกจากนี้ดนตรีทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสังคม อันเป็นผลจากการที่เสียงดนตรีมีส่วนช่วยในการปรับสภาพอารมณ์ของเด็กให้เกิดความพึงพอใจ และความสุขสบาย ฉะนั้นการที่เด็กได้ฟังเสียงดนตรีที่มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เด็กจะเกิดความรู้สึกอบอุ่น มีความไว้วางใจในสิ่งแวดล้อม มีความสุขในการเรียน การทำงาน และสามารถที่จะปรับตัวในลักษณะที่เหมาะสมเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น จะสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออก ซึ่งเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากขึ้น มีพฤติกรรมทางสังคมที่ดี มีความสามัคคีร่วมมือในการทำกิจกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้เป็น อย่างดียิ่ง

ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัย

           ดนตรีจะช่วยสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ และมโนคติกับเด็กในเรื่องต่าง ๆ เช่น ธรรมชาติศึกษา คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษา ฯลฯ และเป็นการช่วยที่เด็กพอใจ เด็กเข้าใจและจดจำได้เอง โดยไม่ต้องมีการบังคับ เช่น บทเพลงที่เกี่ยวกับลม ฝน แมลง นก ขณะที่เด็กร้องเพลงและทำท่าเคลื่อนไหวเลียนแบบสิ่งต่าง ๆ อาทิ ลีลาเลียนแบบท่าทางของสัตว์ ท่าทางของคน ลีลาเลียนแบบการเคลื่อนไหวของเครื่องยนต์กลไกและเครื่องเล่น ลีลา เลียนแบบปรากฎการณ์ธรรมชาติ หรือลีลาตามจินตนการ ซึ่งเด็กจะมีความเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น หรือในขณะที่เด็กร้องเพลงนับกระต่าย นับลูกแมว นับนิ้ว เด็กก็จะได้รับความคิดในเรื่องการเพิ่ม - ลดของจำนวน การเรียงลำดับที่ ฯลฯ ซึ่งพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัยจะเจริญงอกงามโดยอาศัยกิจกรรม
ต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางดนตรีนับเป็นกิจกรรมที่มี ความสำคัญยิ่ง
           ดนตรีเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัย เพราะดนตรีเป็นสิ่งเร่งที่จะช่วยจูงใจให้เด็กเกิดความสบายใจ และมีความรู้สึกในทางที่ดี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีความน่าสนใจ ทำให้เด็กเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้ อันส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาทางสติปัญญาเป็นอย่างดี
           ประการสำคัญ ดนตรีจัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ต่อการพัฒนาทางสติปัญญา โดยเฉพาะด้านสมาธิ เนื่องจากดนตรีช่วยทำให้เด็กเกิดสมาธิในการทำกิจกรรมและสามารถทำงานได้นานขึ้น ทั้งนี้เพราะเสียงดนตรี นับเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่จะช่วยปรับสภาพอารมณ์และช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดสมาธิ สามารถสร้างระเบียบและควบคุมตนเองให้เหมาะสมและไม่เกิดความเครียดจนต้องหยุดชะงักการทำงาน ในขณะที่เด็กทำกิจกรรมสร้าง สรรค์ กิจกรรมการเล่นตามมุม กิจกรรมกลางแจ้ง เมื่อมีดนตรีเปิดเบา ๆ เด็กจะมีความพึงพอใจในการทำกิจกรรมท่ามกลางบรรยากาศที่มีเสียงเพลง และมีความตั้งใจพยายามทำกิจกรรม อีกทั้งยังพบว่าระยะเวลาในการทำกิจกรรมแต่ละประเภทจะยาวนานขึ้น นอกจากนี้เสียงดนตรียิ่งทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และมีจินตนาการในขณะทำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยดังนี้
           จากการทดลองของ เลิศ อานันทนะ ( 2518 : 219) พบว่า เสียงดนตรีสามรถเสริมสร้างความคิดจินตนาการ ช่วยกระตุ้นให้มีการแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างประสาทหู กล้ามเนื้อมือ ให้สอดคล้องกับการใช้ความคิด
           ฉะนั้น ดนตรีจึงเป็นสื่อกลางของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาศักยภาพ คุณค่าทางสมองและสติปัญญา เพราะดนตรีเป็นเรื่องของโสตศิลป์ที่จะพาเด็กไปสู่การรับรู้และเรียนรู้เรื่องของศาสตร์วิทยาการ ต่าง ๆ ตลอดจนความงามอย่างมีสุนทรีย์ ในที่สุดเด็กก็มีการพัฒนาการทางสติปัญญาสูงขึ้น มีคุณภาพและประสิทธิภาพนั่นเอง

ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัย

           ดนตรีช่วยให้เด็กรู้จักฟังและแยกความแตกต่างของระดับเสียง สูง ต่ำ ดัง ค่อย หนัก เบา แหลม ทุ้ม รู้จักแยกอัตราจังหวะ ช้า ปานกลาง เร็ว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการฟังคำพูดที่ประกอบไปด้วยเสียงหนัก - เบา และเสียงวรรณยุกต์ทางภาษาที่แตกต่างกัน ดนตรีจะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านต่าง ๆ อาทิ การเขียน การพูด การอ่านออกเสียงของเด็ก เพราะในขณะที่เด็กร้องเพลง เด็กจะต้องรู้จักควบคุมการหายใจ รู้จักควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด รู้จักจังหวะ
ของคำพูด รู้จักรูปประโยคที่ถูกต้อง และเด็กจะชอบเล่นกับคำพูด ซึ่งเป็นบทคล้องจองที่อยู่ในเพลงนั้น เนื่องจากเพลงทุกเพลงจะต้องมีเนื้อร้องที่สัมผัสกัน เช่น นกเอยนกน้อยน้อย เจ้าค่อยค่อยเคลื่อนคล้อยมา คำว่าน้อยสัมผัสกับค่อย ลักษณะของคำที่คล้องจองกันเช่นนี้ ทำให้เด็กสามารถจำเพลงได้ง่ายขึ้น สิ่งต่าง ๆ ดังที่ผู้เขียนกล่าวมาจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะด้านภาษาให้กับเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี


ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาลักษณะนิสัยที่ดีของเด็กปฐมวัย
           สิ่งที่พึงปรารถนาของทุกฝ่ายและทุกสังคม คือ การให้ลูกหลานมีลักษณะนิสัยที่ดีในการที่จะปลูกฝังและส่งเสริมพัฒนาลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่เด็กปฐมวัยนั้น เราสามารถใช้เพลงหรือดนตรีช่วยได้เป็นอย่างมาก ถ้าเลือกเพลงได้เหมาะสม ในปัจจุบันนี้มีบทเพลงสำหรับเด็กมากมายซึ่งมีส่วนช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็ก จากการทดลองจัดทำเพลงสำหรับเด็กปฐมวัย ว่าด้วยเพลงเกี่ยวกับกริยามารยาท การรักษาความสะอาด เพลงเกี่ยวกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพลงเกี่ยวกับการรักษาระเบียบวินัย ความสามัคคี ฯลฯ ซึ่งได้นำมาใช้สอนนักเรียนระดับปฐมวัย ปรากฏว่านักเรียนสนุกสนาน ให้ความสนใจเป็นอย่างดี เด็ก ๆ ที่ชอบทิ้งขยะไม่เป็นที่ หรือเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บเข้าที่ ก็จะใช้เพลง อย่าทิ้งต้องเก็บ มาร้องให้เด็กฟังและสอนให้เด็กร้องตาม ปรากฎว่าเด็ก ๆ ปฏิบัติตามเพลงเป็นอย่างดี

ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาด้านระเบียบวินัยและความพร้อมเพรียงแก่เด็กปฐมวัย

           ดนตรีสามารถเป็นสื่อที่จะให้เด็กรักษาระเบียบวินัยและความพร้อมเพรียง โดยวิธีนี้เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย ซึ่งจะทำให้ครู - อาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องเหน็ดเหนื่อย หรือ เคี่ยวเข็ญบังคับ เช่น การใช้สัญญาณที่เป็นเสียงเพลงหรือดนตรีกับเด็กว่า ถ้าได้ยินเสียงสัญญาณนี้ทุกคนจะต้องมาเข้าแถว สัญญาณเสียงนี้ทุกคนจะต้องหยุดเล่น สัญญาณนอน สัญญาณรับประทานอาหาร สัญญาณดื่มน้ำ ฯลฯ ซึ่งอาจใช้สัญญาณเสียงที่เป็นเสียงดนตรีง่าย ๆ เช่น นกหวีดเป่าเป็นจังหวะ เสียงกลอง เสียงกรับ เสียงฉิ่ง - ฉับ เสียงกระดิ่งสั่น เป็นจังหวะหรือเสียงเพลงใดเพลงหนึ่ง ซึ่งถ้าเด็กเข้าใจและเคยชินกับสัญญาณเสียงทางดนตรีเหล่านี้ เด็กจะปฏิบัติทุกอย่างได้ดีมีความพร้อมเพรียงกัน โดยที่ครูหรือผู้อ่านเองไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการที่จะต้องคอยตะโกนบอกเด็กอยู่ทุกระยะ ฉะนั้นดนตรีจึงเป็นสื่อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยพัฒนาระเบียบวินัย รวมถึงความพร้อมเพรียงของเด็กปฐมวัยได้อีกทางหนึ่ง

ดนตรีช่วยในการปลูกฝังความรักชาติบ้านเมืองของเด็กปฐมวัย

           การปลูกฝังให้เด็กเกิดความรักชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องแรกอยู่ในกิจกรรมต่าง ๆ สิ่งที่จะเป็นสื่อที่ดีที่สุด คือ การใช้เพลงหรือดนตรี ทำนองและจังหวะต่าง ๆ เป็นเครื่องช่วยกระตุ้น ส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงที่มีจังหวะเร้าใจ คึกคัก สนุกสนาน มีความหมายที่เกี่ยวกับความรักชาติ ความเสียสละเพื่อชาติของวีรชนบรรพบุรุษ ตลอดจนตัวอย่างที่ดีงามของผู้เสียสละ จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าและความสำคัญของประเทศชาติ เห็นความสำคัญของบรรพบุรุษที่ได้ช่วยกันป้องกันประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวปลูกฝังแทรกซึมความรักชาติบ้านเมือง ความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิดต่อไปในอนาคต โดยการใช้ดนตรีเป็นสื่อนำทางได้เป็นอย่างดี
ดนตรีช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กปฐมวัย
           เพลงและดนตรีจะช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาบางอย่างของเด็กปฐมวัย เช่น เด็กที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เด็กที่ขี้อาย มีความก้าวร้าว ฯลฯ เราสามารถนำกิจกรรมทางดนตรีเข้ามาช่วยปรับ หรือแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
           จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการนำกิจกรรมทางดนตรีมาสร้างสรรค์ บรรณาการ และประยุกต์ใช้เป็นสื่อในการพัฒนาการและช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของเด็ก จากประสบการณ์ผู้เขียนคิดว่าเด็กในระดับปฐมวัยจะมีปัญหา ข้อบกพร่องและความพิการด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป ซึ่งปัญหาข้อบกพร่องและความพิการทุกอย่างสามารถที่จะนำกิจกรรมทางดนตรีเข้าบำบัดแก้ไขได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีความสนใจต่ำ เด็กที่มีสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด มีปัญหาเกี่ยวกับทักษะในการเคลื่อนไหว การปรับตัว ความคิดและจินตนาการ สายตา การอยู่ร่วมกัน การรักษาหรือลักษณะของต่าง ๆ ความซาบซึ้ง ความสามารถ ระดับความสมหวัง ประการที่สำคัญดนตรีสามารถนำไปใช้บำบัดการที่เด็กพิการ ทั้งด้านการพูด ตา หู ร่างกาย สมอง หรือแม้กระทั่งเด็กที่มีปัญหาหรือความบกพร่องทางอารมณ์ ซึ่งผู้ที่นำกิจกรรมทางดนตรีมาใช้เชื่อกันว่า อิทธิพลหรืออำนาจของเสียงเพลงหรือดนตรีจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ คุณค่าและเกิดอารมณ์แก่เด็กในการที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ในตัวเด็กได้
           ประการสำคัญในการเรียนการสอนระดับปฐมวัย ดนตรีสามารถนำมาปรับพฤติกรรม หรือเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งนักวิชาการทางดนตรี เรียกกันว่าดนตรีบำบัด อันเป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่มีประโยชน์มหาศาลต่อเด็กโดยการประยุกต์กิจกรรมทางดนตรีหรือเพลงที่เลือกสรรเป็นอย่างดีมาใช้กับเด็ก โดยมุ่งที่จะให้กิจกรรมทางดนตรีเป็นตัวช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ช่วยแก้ไขความผิดปกติ ความบกพร่องของเด็กในระหว่างที่มารับการบำบัดหรือศึกษาฟื้นฟู พัฒนาสมรรถภาพ ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจเป็นเด็กปัญญาเลิศ เด็กที่มีปัญหาทางการอ่าน เด็กปัญญาอ่อน เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ เด็กที่มีความบกพร่องด้านต่าง ๆ เด็กพิการ หรือเด็กพิเศษ ฯลฯ โดยการบำบัดด้วยดนตรีเป็นการเริ่มที่ตัวเด็กไม่ได้เริ่มจากดนตรี โดยการใช้เด็กเป็นศูนย์กลางของการบำบัด นักดนตรี นักดนตรีบำบัดจะวินิจฉัยปัญหาของเด็ก แล้วจึงวางแผนจัดกิจกรรมทางดนตรีให้สอดคล้องกับความต้องการ ความบกพร่องหรือปัญหาของเด็กแต่ละคนเป็นราย ๆ ไป การบำบัดด้วยดนตรีของเด็กพิเศษเหล่านี้ อาจทำเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เด็กมีพัฒนาการที่พึงประสงค์ สิ่งสำคัญของการบำบัดดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย จะเน้นการบำบัดดนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งจะเริ่มที่ปัญหาและสภาพข้อบกพร่อง ความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคนๆ การบำบัดด้วยดนตรีนี้มีจุดมุ่งหมายคล้ายกับการบำบัดรักษาด้วยวิธีการหรือเครื่องมืออื่นๆ โดยมุ่งที่จะใช้กิจกรรมทางดนตรีเป็นสื่อกระตุ้นหรือเร้าให้เด็กได้มีพัฒนาการ ประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งยังส่งเสริมให้เด็กเกิดพฤติกรรมใหม่ อันเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ เป็นสิ่งปกติในชีวิตและวัยของเด็กแต่ละช่วงให้คงอยู่แลพัฒนาการต่อไป


ดนตรีเป็นสื่อสร้างเสริมพัฒนาการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย

           วิธีการหรือสื่อหนึ่ง ที่จะมีส่วนทำให้เด็กในระดับปฐมวัยเกิดความสนใจ สนุกสนาน เห็นคุณค่าตั้งใจและติดตามการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ ในหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นสาระเนื้อหาตามแผนการจัดประสบการณ์ ทั้งกิจกรรมที่ปรากฎในตารางกิจกรรมประจำวันอันประกอบด้วย การเคลื่อนไหวและจังหวะกิจกรรมสร้างสรรค์ (ศิลปศึกษา) การเล่นตามมุม กิจกรรมในวงกลม การเล่นกลางแจ้ง เกมการศึกษา กิจกรรมที่ไม่ปรากฎในตารางกิจกรรมประจำวัน อาทิ การเล่านิทานการร้องเพลง การท่องคำคล้องจอง การจัดทัศนศึกษา การปฏิบัติการทดลอง การเตรียมเด็กให้สงบ ( การเก็บเด็ก) รวมทั้งแผนการจัดประสบการณ์ทั้ง 16 สัปดาห์ ในระดับปฐมวัยศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( กระทรวงศึกษาธิการ. 2536 : 335 หน้า) ซึ่งเราสามารถนำกิจกรรมดนตรี เข้าแทรกหรือบูรณาการแผนการจัดประสบการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี
           การนำดนตรีมาใช้เป็นส่วนประกอบในกิจกรรมการเรียนการสอน บทประพันธ์เพลงที่มีความไพเราะ มีรูปแบบทำนองลีลาสมบูรณ์ จะให้ความซาบซึ้งและดำรงไว้ซึ่งคุณค่าทางอารมณ์ สามารถจินตนาการเป็นภาพที่มีความหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เด็กในแง่ที่จะพัฒนาจิตใจให้ละเอียดอ่อน ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เรื่องของการเรียนไม่ว่าจะเป็นการเรียนวิชาดนตรีหรือวิชาอื่น ๆ ก็ตาม การเรียนรู้ที่สมบูรณ์นั้น ควรจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันได้ในรายวิชาต่าง
ๆ ปกติคนเราจะมีพื้นฐานดนตรีประทับในใจอยู่แล้วเป็นทุน จากสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ ดังนั้น จึงสามารถใช้ดนตรีเป็นสื่อเชื่อมโยงได้ โครงสร้างของวิชาดนตรีกับวิชาอื่น ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน จะเป็นส่วนช่วยให้สามารถจัดระบบที่เหมาะสม
           การนำกิจกรรมดนตรีมาใช้ประกอบการเรียนการสอนให้สัมพันธ์กับบทเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เด็กเรียนด้วยความสนุกเพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายวิชาที่เรียน เพราะเป็นการได้รับความรู้จากบทเรียน คละเคล้าไปกับการเล่นโดยไม่รู้ตัว และจะช่วยส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ความจำของเด็กได้ดีขึ้น กิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ดนตรีอาจทำได้ดังนี้
          1. ใช้ดนตรีเป็นเนื้อหาในการเรียนแล้วโยงไปหาวิชาอื่น ๆ เช่น ถ้าเพลงใดมีเนื้อหาที่บอกเรื่องราวต่าง ๆ สมบูรณ์ในตัว ก็นำเพลงนั้นมาให้เด็กร้องและอธิบายข้อความตามเนื้อเพลง แล้วจึงโยงไปถึงการเล่น การเล่าเรื่อง การเล่นนิทาน การฝึกทักษะด้านอื่น ๆ
          2. ใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบให้สัมพันธ์กับบทเรียน คือ เรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วนำเพลงที่สัมพันธ์กับบทเรียนเข้ามาแทรก ซึ่งการแทรกนี้อาจทำได้หลายทาง เช่น ใช้ดนตรีเป็นการนำบทเรียน เพื่อที่จะเร้าให้เด็กเกิดความสนใจและกระตือรือร้นอยากที่จะเรียน ควรใช้เพลงที่เกี่ยวกับการให้เด็กคิดหรือให้ทาย เป็นต้นใช้ดนตรีแทรกตอนกลางบทเรียน บางครั้งบทเรียนที่ค่อนข้างยาวเกินไป อาจทำให้เด็กเบื่อและมีสมาธิสั้น อาจใช้เพลงแทรกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และเพื่อให้ เด็กเรียนด้วยความสนุกสนานยิ่งขึ้น ซึ่งเพลงที่จะนำมาร้องแทรกตอนกลางของบทเรียนนี้ ควรเป็นเพลงที่เด็กร้องเป็นมาก่อน หรือเคยได้ฟังมาบ้างและเป็นเพลงที่ร้องง่าย ๆ ฉะนั้น ครูจะต้องเริ่มสอนร้องเพลงใหม่ ทำให้ความสนใจของเด็กมาอยู่ที่ดนตรีหมด โดยที่ยังสอนบทเรียนไม่จบ นอกจากนี้ การนำดนตรีมาแทรกในบทเรียนยังช่วยได้มากในกรณีที่ครูต้องการเน้นเนื้อหาให้เด็กเข้าใจ และเห็นความสำคัญยิ่งขึ้น
          3. ใช้ดนตรีหรือเพลงร้องภายหลังบทเรียน ซึ่งเป็นการทบทวนบทเรียนไปด้วย เช่น เมื่อเด็กเรียนธรรมชาติศึกษาเรื่องสัตว์ต่าง ๆ ได้หัดฟังและเลียนสียงร้องของสัตว์และชนิดของสัตว์ ซึ่งแตกต่างกันไปแล้ว เพื่อเป็นการทบทวนความจำให้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าสัตว์ใดร้องอย่างใด ก็นำกิจกรรมทางดนตรีมาให้เด็กร้องหรือเล่นเป็นการสรุปบทเรียนได้อีกทางหนึ่ง
การนำกิจกรรมทางดนตรีมาประกอบการเรียนการสอนเพื่อเป็นสื่อสร้างเสริมพัฒนาการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย สามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงรายวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปศึกษา ธรรมชาติ ฯลฯ การใช้ดนตรีเข้าช่วยจะทำให้เด็กเกิดความสุกสนาน สร้างเสริมคุณค่าและพัฒนาการทางอารมณ์ สามารถอำนวยประโยชน์ในกิจกรรมการเรียนการสอน และเป็นประโยชน์สำหรับเด็กปฐมวัยและผู้เกี่ยวข้อง


ดนตรีกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย             

                เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 5 ครึ่ง 6 ปี ถึง 6 ปี เด็กในช่วงวัยนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นพัฒนารากฐานทางสมอง ให้มีศักยภาพสูงสุด ถือเป็นโอกาสทองที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เพื่อให้พวกเขามีความเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา
                หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 มุ่งส่งเสริมให้เด็กที่มีอายุแรกเกิดถึง 5 ปี มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย เด็กอายุ 3-5 ปี ให้มีความสามารถในการคิดและแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ 10 ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาและเป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์แก่ผู้เรียน โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่เป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ดังนี้     
       1.  ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขนิสัยที่ดี
       2.  กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ประสานสัมพันธ์กัน
       3.  มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุข
       4.  มีคุณธรรมและจริยธรรม
       5.  ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว และรักการออกกำลังกาย
       6.  ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะกับวัย
       7.  รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม 8.อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
        9. ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะกับวัย
       10. มีความสามารถในการคิดและแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
       11. มีจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์
       12.  มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีทักษะในการแสวงหาความรู้
                จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการนำกิจกรรมทางดนตรีมาสร้างสรรค์ บรรณาการและประยุกต์ใช้เป็นสื่อในการพัฒนาการและช่วยแก้ ไขข้อบกพร่องของเด็ก จากประสบการณ์ผู้เขียนคิดว่าเด็กในระดับปฐมวัยจะมีปัญหา ข้อบกพร่องและความพิการด้านต่างๆแตกต่างกันไป ซึ่งข้อบกพร่องและความพิการทุกอย่างสามารถที่จะนำกิจกรรมทางดนตรีเข้ามาบำบัด แก้ไขได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีความสนใจต่ำ เด็กที่มีสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด ปัญหาทักษะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว การปรับตัว ความคิดและจินตนาการ สายตา การอยู่ร่วมกัน ความสามารถ ประการสำคัญดนตรีสามารถนำไปใช้บำบัดเด็กพิการด้านการพูด ตา หู ร่างกาย สมองหรือแม้กระทั่งเด็กที่มีปัญหาหรือความบกพร่องทางอารมณ์ ซึ่งผู้ที่นำกิจกรรมทางดนตรีมาใช้เชื่อว่าอิทธิพลหรืออำนาจของเสียงบทเพลงหรือดนตรี สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ คุณค่าและเกิดอารมณ์แก่เด็กในการที่จะแก้ปัญหาต่างๆในตัวเด็กได้
                ประการสำคัญในการเรียนการสอนระดับปฐมวัย ดนตรีสามารถนำมาปรับพฤติกรรมหรือเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งนักวิชาการทางดนตรี เรียกว่า ดนตรีบำบัด อันเป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่มีประโยชน์มหาศาลต่อเด็ก โดยการประยุกต์กิจกรรมทางดนตรีเป็นตัวช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆของเด็ก ช่วยแก้ไขความผิดปกติ ความบกพร่องของเด็ก ในระหว่างการมารับการบำบัดหรือฟื้นฟู พัฒนาสมรรถภาพ ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจเป็นเด็กปัญญาเลิศ เด็กที่มีปัญหาทางการอ่าน เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านต่างๆ เด็กพิการหรือเด็กพิการซ้อน โดยการบำบัดด้วยดนตรีเป็นการเริ่มที่ตัวเด็กไม่ใช่ดนตรี โดยการใช้เด็กเป็นศูนย์กลางของการบำบัด นักดนตรี นักดนตรีบำบัด จะวินิจฉัยปัญหาของเด็ก แล้วจึงวางแผนจัดกิจกรรมทางดนตรี ให้สอดคล้องกับความต้องการ ความบกพร่องหรือปัญหาของเด็กแต่ละคนเป็นรายๆไป การบำบัดด้วยดนตรีของเด็กพิเศษเหล่านี้ อาจทำเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่พึงประสงค์ สิ่งสำคัญของการบำบัดดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย จะเป็นการบำบัดเป็นรายบุคคล ซึ่งจะเริ่มที่ปัญหาและสภาพข้อบกพร่อง  ความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน การบำบัดด้วยดนตรีนี้มีจุดมุ่งหมายคล้ายกับการบัดรักษาด้วยวิธีการหรือเครื่องมืออื่นๆ โดยมุ่งที่จะใช้กิจกรรมทางดนตรี เป็นสิ่งกระตุ้นให้เด็กได้มีพัฒนาการ ประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมต่างๆ ทั้งยังส่งเสริมให้เด็กเกิดพฤติกรรมใหม่ อันเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ เป็นสิ่งปกติในชีวิตและวัยของเด็กแต่ละชีวิตให้คงอยู่และพัฒนาการต่อไป

                การนำกิจกรรมดนตรีมาใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนให้สัมพันธ์กับบทเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กเรียนด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายวิชาที่เรียนเพราะเป็นการได้รับความรู้จากบทเรียน คละเคล้าไปกับการเล่น โดยไม่รู้ตัว และจะช่วยส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ความจำของเด็กได้ดีขึ้น กิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ดนตรีอาจทำได้ดังนี้
                                1. ใช้ดนตรีเป็นเนื้อหาในการเรียนแล้วโยงไปหาวิชาอื่นๆ เช่น ถ้าเพลงใดมีเนื้อหาที่บอกเรื่องราวต่างๆ สมบูรณ์ในตัว ก็นำเพลงนั้นมาให้เด็กร้องและอธิบายข้อความตามเนื้อเพลง แล้วจึงโยงไปถึงการเล่น การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน การฝึกทักษะด้านต่างๆ
                                2. ใช้ดนตรีเป็นสื่อประกอบให้สัมพันธ์กับบทเรียน คือ เรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วนำเพลงที่สัมพันธ์กับบทเรียนเข้ามาแทรก ซึ่งการแทรกนี้อาจทำได้หลายทาง เช่น ใช้ดนตรีเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อที่จะเร้าให้เด็กเกิดความสนใจและกระตือรือร้นอยากที่จะเรียน ควรใช้เพลงที่เกี่ยวกับการให้เด็กเกิดความคิดหรือให้ทายเป็นต้น ใช้ดนตรีแทรกตอนกลางบทเรียน บางครั้งบทเรียนที่ค่อนข้างยาวเกินไป อาจทำให้เด็กเบื่อและมีสมาธิสั้น อาจใช้เพลง  แทรกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และเพื่อให้เด็กเรียนด้วยความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นครูจะต้องเริ่มสอนร้องเพลงใหม่ ทำให้ความสนใจของเด็กมาอยู่ที่ดนตรี การนำดนตรีมาแทรกในบทเรียนยังช่วยได้มากในกรณีที่ครูต้องการเน้นเนื้อหาให้เด็กเข้าใจและเกินความสำคัญยิ่งขึ้น
                                3. ใช้ดนตรีหรือเพลงร้องหลังบทเรียน ซึ่งเป็นการทบทวนบทเรียนไปด้วย เช่น เมื่อเด็กเรียนธรรมชาติศึกษาเรื่องสัตว์ต่างๆ ให้หัดฟังและเลียนเลียนเสียงร้องของสัตว์และชนิดของสัตว์ซึ่งแตกต่างกันไปแล้ว เพื่อเป็นการทบทวนความจำให้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าสัตว์ใดร้องอย่างไร ก็นำกิจกรรมทางดนตรีมาให้เด็กร้องหรือเล่นเป็นการสรุปบทเรียนได้อีกทางหนึ่ง
                การนำกิจกรรมทางดนตรีมาประกอบการเรียนการสอนเพื่อเป็นสื่อสร้างเสริมพัฒนาการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย สามารถสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงราชวิชาต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาษา สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปศึกษา ธรรมชาติ ฯลฯ การใช้ดนตรีเข้าช่วยจะทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน สร้างเสริมคุณค่าและพัฒนาการทางอารมณ์ สามารถอำนวยประโยชน์ในกิจกรรมการเรียนการสอนและเป็นประโยชน์สำหรับเด็กปฐมวัยและผู้เกี่ยวข้อง
                                                 


       ดนตรีมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนเมื่อเติบโตขึ้นถึงวัยเข้าเรียนในระหว่างที่อยู่โรงเรียน ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาวิชาที่เรียน และ เป็นส่วนประกอบของกิจกรรมต่างๆ
ดนตรีสำหรับปฐมวัยนั้น มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากดนตรีในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพราะดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย หมายถึง ดนตรีที่เด็กแสดงออกตามความพร้อม การรับรู้และ ความสนใจของเด็กแต่ละคน การแสดงออกของเด็กจะอาศัยสื่อบางอย่างได้แก่ เสียงร้อง อุปกรณ์เครื่องดนตรี หรือ การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งการแสดงออกทางดนตรีของเด็กจะแสดงออกหลายรูปแบบเช่น การร้องเพลง การเคลื่อนไหวตามจังหวะตามทำนอง และตามเนื้อร้องของเพลง รวมทั้งการเล่นอุปกรณ์เครื่องดนตรี และการสร้างสรรค์ทางดนตรี ครูเป็นบุคคลสำคัญและมีอิทธิพลในการช่วยเหลือเด็กให้เกิดความรักทางด้านดนตรีมีประสบการณ์ทางด้านดนตรีมีความเจริญงอกงามทางดนตรี มีการพัฒนาการทางดนตรีและมีพฤติกรรมใหม่เกิดขึ้น
อันเป็นผลจากการเรียนรู้ ซึ่งผลการเรียนรู้นี้ช่วยให้เด็กมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆคือ
        1.  มีทักษะทางด้านดนตรี
        2.  มีความชื่นชมและรักในดนตรี
        3.  มีความรู้สึกกล้าอยากทดลองสิ่งใหม่
       การที่เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านดนตรี ขึ้นอยู่กับ สติปัญญา อารมณ์ และ วุฒิภาวะของเด็กแต่ละคน ซึ่งมีความแตกต่างกันไป  ครูต้องนำกระบวนการเรียนรู้มาใช้ คือ
        1.  ครูควรเสริมแรงให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจเมื่อเด็กประสบความสำเร็จทางดนตรี เพราะจะทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในการกระทำครั้ง ต่อไป
        2.  ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กแสดงอารมณ์ผ่านทางเสียงดนตรี และ เพลง ให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรี
        3.  ครูควรใช้เทคนิคการสอนแบบต่างๆ และนำอุปกรณ์สร้างสรรค์ต่างๆ เช่น หุ่นมือ หุ่นชัก และอุปกรณ์ดนตรีหลากหลายมาใช้เป็นตัวช่วยให้
เด็กเกิดการเรียนรู้ทักษะทางดนตรีมากขึ้น
วุฒิภาวะของเด็ก
ในการจัดการเรียนการสอนดนตรีแก่เด็กสิ่งที่สำคัญที่ครูต้องคำนึงถึงคือวุฒิภาวะของเด็กด้านต่างๆ คือ
        1. ด้านร่างกาย
        2. ด้านอารมณ์
        3. ด้านสังคม
        4. ด้านสติปัญญา
          ดังนั้นดนตรีเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของเด็กให้มีการพัฒนาทั้ง 4 ด้านดีขึ้น
รูปแบบของกิจกรรมดนตรีที่ผู้ปกครอง ครู ควรจัดให้เด็กได้มีโอกาสปฏิบัติ คือ
       1. ประสบการณ์ด้านการฟังเพลงให้เด็กได้มีโอกาสฟังเพลงรอบๆตัว อย่าให้ดังไปหรือเบาไป เช่น การตักน้ำ เปิดขวด เทน้ำลงถัง เป็นต้น
       2. ประสบการณ์ด้านการร้องเพลง ทำให้เด็กเกิดความสนใจ เกิดเจตคติที่ดีต่อดนตรี เพลงที่เด็กฟังต้องมีการเชิญชวนไม่กดดัน และเด็กมีส่วนร่วม
       3. ประสบการณ์ด้านการเคลื่อนไหวและจังหวะต้องค่อยๆสอนให้เด็กรู้จังหวะ การเคาะจังหวะช้า,เร็ว การเดินประกอบจังหวะช้า,เร็ว
      4. ประสบการณ์ด้านการดนตรี แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สอนในห้องเรียนและสอนตัวต่อตัว
      5. ประสบการณ์ด้านการสร้างสรรค์ดนตรี สำรวจเสียงในห้องเรียน เปรียบเทียบเครื่องดนตรี
      6. ประสบการณ์ด้านการอ่านสัญลักษณ์ทางดนตรีหรือโน้ตเพลง กิจกรรมไม่ต้องชี้ให้จำแต่สอนไปเรื่อยๆประมาณ 7-8 ครั้ง เด็กจะจำจังหวะและ ตัวโน๊ตได้
หลักการสอนดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย ควรครอบคลุมถึงสิ่งต่อไปนี้
      1. ครูควรสอนเพลงที่หลากหลายแก่เด็กเพลงที่มีความหมายที่ดีเช่นเพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงชาติ
      2. ครูควรสอนเด็กๆให้รู้จักจังหวะที่ถูกต้อง เช่น ช้า, เร็ว , ปรบมือ, เคาะจังหวะ
      3. ให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในลักษณะผู้นำ - ผู้ตาม
     4. เด็กเข้าใจลักษณะองค์ประกอบดนตรี ทำนอง
      5. เด็กสามารถแยกแยะเสียงสูงต่ำ
      6. เด็กมีประสบการณ์สร้างสรรค์ดนตรีมากที่สุด
      7. เด็กมีความสุขในการเรียนดนตรี



การปลูกฝังทัศนคติดนตรีกับเด็กปฐมวัย
        การจัดกิจกรรมดนตรีในระดับปฐมวัยนั้น ตัวเด็กเองจะได้พัฒนาทางทัศนคติที่ดีควบคู่ไปด้วย และกระบวนการเรียนการสอน เมื่อเด็กเริ่มการเรียนรู้สาระดนตรี เด็กจะเริ่มสะสมประสบการณ์ต่างๆ รวมทั้งทัศนคติซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่ผู้สอนควรมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนการสอนและจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่พึงพอใจเพื่อเด็กเกิดความสนใจ ความชอบ ความรักในดนตรี สำหลับเด็กวัยนี้ควรปลูกฝังทัศนคติที่จัดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มเรียนดนตรี ถ้าเด็กมีทัศนคติต่อดนตรีแล้ว ในการศึกษาดนตรีต่อๆไป เด็กย่อมจะมีความสนใจอยากศึกษาด้านสาระดนตรี ดังนั้นครูผู้สอนจึงพยายามทำให้เด็กเพลิดเพลิน สนุกสนานไปกับดนตรีเสมอ

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย

ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย

ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยในแต่ละวัน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กปฐมวัย นอกจากจะได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตาแล้ว กิจกรรมศิลปะยังสอดคล้องกับแบบแผนการเรียนรู้ของสมอง หรือที่เรียกว่า Brain Base Learning (BBL) อีกด้วย เด็กจะได้ฝึกปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง เรียนรู้ผ่านการสังเกตและฝึกกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อพัฒนาจุดเชื่อมต่อของใยประสาท ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย มีอิสระทางความคิด กิจกรรมศิลปะ เป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมโยงพัฒนาการของอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อของใยประสาทที่สามารถพัฒนาไปสู่แบบแผนการเรียนรู้ของสมอง ในการจัดกิจกรรมศิลปะหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ ครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กมีประสบการณ์ตรงและฝึกปฏิบัติอย่างหลากหลาย หากย้อนอดีต สะท้อนประสบการณ์เดิมด้านการเรียนการสอนศิลปะ คุณครูจะให้นักเรียนวาดภาพทิวทัศน์ในกระดาษวาดเขียน แนวคิดเดิม ๆ คือ ภาพทิวทัศน์จะมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างภูเขา มีก้อนเมฆ มีต้นมะพร้าวหรือต้นไม้อื่น มีน้ำทะเล มีเรือใบ มีนกบิน ฯลฯ แต่ยุคปัจจุบันการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย จะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กอย่างหลากหลายรูปแบบนะครับ เช่น - กิจกรรมวาดภาพระบายสี - กิจกรรมเล่นกับสีน้ำ เช่น เป่าสี หยดสี พับสี ระบายสีด้วยนิ้วมือ ฝ่ามือ - กิจกรรมการพิมพ์ภาพด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและวัสดุต่าง ๆ - กิจกรรมการปั้น ขยำดินเหนียว ดินน้ำมัน แป้งโด กระดาษ ฯลฯ - กิจกรรมการพับ ฉีก ตัด ปะ - กิจกรรมการร้อย สาน และการออกแบบ - กิจกรรมการฝนสีด้วยกระดาษทราย ฯ ล ฯ ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ครูสามารถส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่เพิ่มจุดเชื่อมต่อของใยประสาท โดยส่งเสริมให้เด็กสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ พัฒนาการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตา การพัฒนาระบบกายสัมผัสโดยให้เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันในระหว่างทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ผ้ากระสอบ ผ้าสักหลาด กำมะหยี่ กระดาษทราย กระดาษที่มีผิวสัมผัสต่างกัน ฯลฯ ระหว่างทำกิจกรรมศิลปะ ครูต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น แสงสว่างพอเหมาะ มีเสียงดนตรีเบา ๆ บรรยากาศผ่อนคลาย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสมองส่วนประสาทสัมผัสกับสมองส่วนที่คุมกล้ามเนื้อพร้อม ๆ กัน การเชื่อมโยงสมองซีกซ้ายเข้ากับซีกขวาที่เป็นด้านจินตนาการ ดังนั้น งานศิลปะจึงไม่ควรเป็นการลอกเลียนแบบหรือต้องทำให้เหมือนจริง รวมทั้งไม่เน้นความถูกต้องของสัดส่วน แต่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กสนุกสนาน ซึมซับความงามของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีความมั่นใจ ภาคภูมิใจในผลงานของตน ควบคู่กับความสามารถถ่ายทอดการรับรู้ภายในด้านมิติ รูปทรง ขนาด ระยะ ฯลฯ ตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็ก