วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พัฒนาการทารกแรกเกิด - เดือนที่ 3

พัฒนาการทารกแรกเกิด - เดือนที่ 3 PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย กัมพล   
ทารกแรกเกิดพัฒนาการของเด็ก เป็นเรื่องราวของความซับซ้อน ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอันมีปัจจัยสำคัญที่ตัวเด็กเอง และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการของเด็กที่เกิดขึ้นตลอดเวลา หากได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่ หรือผู้ใกล้ชิดในครอบครัวอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และช่วยส่งเสริมให้เกิดขบวนการพัฒนาลักษณะ บุคลิกภาพที่ดีของเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่สามารดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข และในทางตรงกันข้าม หากเด็กได้รับการตอบสนอง ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม ก็ย่อมก่อให้เกิดผลเสียกับเด็กคนนั้นๆ เช่นกัน ฉบับนี้เราจึงขอเสนอท่านด้วยเรื่อง "การพัฒนาการของเด็ก" ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงเดือนที่ 3 ลองดูซิว่า ลูกของท่านนั้น มีพัฒนาการอะไรเกิดขึ้นบ้าง และตัวท่านเองในฐานะเป็นพ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็ก ได้ตอบสนองในพัฒนาการเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด
ความผูกพันระหว่างแม่กับลูก

มีความสำคัญยิ่ง เรียกได้ว่า มีความรู้สึกที่ดีต่อกันตั้งแต่เริ่มวางแผนที่จะมีลูก จนกระทั่งลูกน้อยเริ่มเติบใหญ่อยู่ในครรภ์ จนกระทั่งคลอดออกมา แม่ได้อุ้ม กอด สัมผัส และให้ลูกดูดนมแม่ ความผูกพันทางจิตใจระหว่างแม่ลูก มีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูกยิ่งนัก ส่งผลไปถึงการเลี้ยงดู ซึ่งก่อให้เกิด สายใยแห่งความผูกพันมากยิ่งขึ้น ระหว่างเด็กกับแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ซึ่งแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก จะเรียนรู้จากกริยาอาการของเด็ก เข้าใจถึงความต้องการของเด็ก เช่น ลูกร้องเมื่อหิวนม ลูกอยากเล่น ลูกอยากนอน การส่งเสียงพูดช้าๆ ช่วยให้ลูกเกิดความสนใจโดยอาจจะแสดงสีหน้า ทำเสียงฮือฮา หรือขยับริมฝีปาก บิดไปมา เหล่านี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการต่อไป
อาการร้องของเด็กตั้งแต่แรกเกิด
พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่ใกล้ชิด จะสามารถบอกได้ว่าเด็กร้องเนื่องจากสาเหตุใด เช่น เจ็บคอ ร้องหิว อยากให้อุ้ม นอกจากนี้อาจร้องเพราะตกใจ หรือร้องตามเสียงร้องของเด็กคนอื่น เป็นการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมแบบธรรมชาติ เราจึงต้องค่อยๆ พยายามเรียนรู้ และสังเกตจากอาการของลูกได้
พฤติกรรมและการเคลื่อนไหวทางร่างกายในระยะแรกเกิด
เด็กมักจะอยู่ในท่างอแขน-ขา จะมีการเคลื่อนไหวเท่ากัน 2 ข้างในท่านอนคว่ำ และเด็กก็จะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับโดยธรรมชาติหรือสัญชาตญาณ เช่น การดูด การโต้ตอบเมื่อมีสิ่งสัมผัสข้างแก้ม การขยับแขน-ขาเมื่อตกใจ การก้าวของขาเมื่อจับยืนและเท้าแตะพื้น ซึ่งปฏิกิริยาสะท้อนกลับเหล่านี้ ในระยะแรกเกิด เด็กสามารมองเหม่อเห็นได้ชัดเจนในระยะห่าง 8-9 นิ้ว และจะมีพฤติกรรมมองหน้าช่วงสั้นๆ สามารถเลียนแบบ อ้าปาก และแลบลิ้นได้
ในช่วงสัปดาห์แรกนั้น เด็กอาจแสดงความตกใจด้วยการร้อง บางครั้งพ่อแม่อาจตกใจไปด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าทำไมลูกจึงร้อง ทั้งๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น การได้สัมผัสทางกาย โดยเฉพาะการอุ้มอยู่ในอ้อมกอดของแม่ จะช่วยให้เด็กหยุดร้องได้ และเป็นการกระตุ้นพัฒนาการอย่างหนึ่งได้ เด็กจะรับรู้ได้ว่า แม่อุ้มด้วยอารมณ์ และความรู้สึกเช่นไร
ในระยะที่เด็กจะยังนอนเป็นส่วนใหญ่และตื่นขึ้นมาดูดนมทุกๆ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง พฤติกรรมของเด็ก แต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ไม่จำเป็นว่าลูกของเราจะต้องนอน หรือดูดนม ในจังหวะเวลาสม่ำเสมอ หรือเหมือนกับลูกคนอื่น ดังนั้น ไม่ควรเอาลูกคนอื่นๆ มาเปรียบเทียบกับลูกของเรา ขอเพียงการพัฒนาการต่างๆ ของลูกของเราอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและถูกต้อง ก็ดีแล้ว

เดือนที่ 1
เมื่อผ่านไป 1 เดือน คุณแม่ก็คงจะเริ่มมีความชำนิชำนาญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจับลูกอาบน้ำ อุ้มลูกให้ดูดนม ส่วนตัวเด็กเอง เราก็จะรู้สึกว่าดูกระชับมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กในช่วงนี้ก็จะยังคงต้องการนอนมากอยู่ดี จะนอนถึงวันละประมาณ 12 ชั่วโมง เวลาตื่นก็จะร้อง และดูดนม หรือเวลารู้สึกเปียกแฉะจากการปัสสาวะหรืออุจจาระ ก็จะกระตุ้นให้ตื่นแล้วร้อง การนอนในแต่ละช่วงของเด็กวัยนี้ ก็จะแตกต่างกันไป แต่มักจะหลับได้ไม่นาน ก็ตื่น ขยับตัวไปมา แล้วจะหลับไปอีก การตื่นของเด็กแต่ละครั้ง ไม่ได้หมายความว่า เด็กหิวนม ดังนั้น เมื่อเห็นลูกตื่นขึ้นหรือเริ่มร้อง ไม่จำเป็นต้องป้อนนม หรือให้ลูกดูดนมทุกครั้งไป แต่ควรจะใช้วิธีการสัมผัสโดยการกล่อมเบาๆ หรืออุ้มให้กระชับ ถ้าร้องมาหรือพูดคุยเล่นด้วย ก็จะทำให้เด็กสงบลงได้ สิ่งสำคัญก็คือว่า พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรจะทำให้สภาวะแวดล้อมรอบๆ ตัวเด็กไม่ตึงเครียด ควรจะเลี้ยงดูเด็กด้วยอารมณ์ที่แจ่มใสร่าเริง เหมาะจะทำให้การพัฒนาการทางด้านจิตใจเด็กเป็นไปด้วยดีด้วยหลายๆ ครั้ง เราจึงต้องคอยสังเกตอยู่เสมอว่า การช่วยปลอบให้ลูกหยุดร้องนั้น จะใช้วิธีใดสำหรับลูกของเรา ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไป

ในยามที่ลูกตื่น และปราศจากสิ่งรบกวนอื่นๆ จะเป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นการพัฒนาการของลูก ทั้งทางด้านอารมณ์ สติปัญญา จิตใจ และร่างกาย เราสามารถกระตุ้นด้วยการพูดคุยเล่นด้วย ใช้เสียงเป็นสื่อ เช่น เสียงเพลง เสียงดนตรีไขลาน ช่วยในเรื่องของการเคลื่อนไหวและสายตา อาจจะใช้โมบาย การเสริมสร้างอารมณ์และสิ่งแวดล้อมที่สดใส ร่าเริงต่อลูกของเราในเวลาที่เหมาะสมจะเป็นสิ่งกระตุ้นต่อการพัฒนาการที่สำคัญยิ่งในอนาคต

การพัฒนาการทางด้านร่างกายในอายุ 1 เดือน การเคลื่อนไหวแขน-ขา ก็จะคงเหมือนในช่วงแรกเกิด กล่าวคือ จะเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบแบบสะท้อนกลับ ยังไม่สามารถยกศีรษะได้ ถ้าจับตั้งก็จะตกไปข้างหน้า หรือแหงนไปข้างหลัง แต่อาจจะสามารถตะแคงข้างได้บ้าง เด็กจะจ้องมองสิ่งต่างๆ แต่จะยังไม่คว้าของ ลักษณะการมองสิ่งของจะสามารถมองตาม และแสดงสีหน้า ท่าทางสนใจตื่นเต้น เมื่อมองเห็นหน้าคนหรือของเล่น ในระยะใกล้ๆ โดยทั่วไปไม่เกิน 1 ฟุต นอกจากนี้ก็จะส่งเสียงโต้ตอบ อ้อแอ้ได้แล้ว อาจจะจำเสียงพ่อแม่ได้บ้าง

เดือนที่ 2
เด็กวัยนี้ เมื่อจับนอนคว่ำจะยกศีรษะขึ้นได้ประมาณ 45 องศา ในระยะสั้นๆ แต่ศีรษะยังตั้งได้ไม่แข็ง เริ่มที่จะจับถือสิ่งของได้นานขึ้น และอาจจะคว้าของได้ ชอบจ้องมองหน้าผู้คน ยิ้มให้คนใกล้ชิด และมองตาม ถ้ามีคนคอยเล่นด้วยก็จะตื่นได้นานขึ้น เด็กบางคนอาจจะนอนนานขึ้นในตอนกลางคืน ดังนั้นอาจจะนอนนานขึ้นในตอนกลางคืน ดังนั้นอาจจะตื่นเพื่อดูดนมเพียงครั้งเดียว ในช่วงวัยนี้จะกินนมทุกๆ 4 ชั่วโมง อาจจะได้นมวันละ 30-35 ออนซ์ เวลาร้องหิว ถ้าไม่ได้นมก็จะร้องมากจนบางครั้งทำให้พ่อแม่ตกอกตกใจไปตามๆ กัน

ในช่วงที่เด็กตื่น จะมีการพยายามขยับแขน-ขา พลิกตัวไปมา บ้างก็ดูดนิ้วไปบ้าง การเคลื่อนไหวแบบนี้จะต้องระวังไว้บ้างเพราะอาจตกงานที่สูงหรือเตียงได้ การสื่อสารกับสังคมของเด็กวัยนี้จะแสดงโดยการยิ้ม และขยับแขน-ขา เตะขา บิดตัว และเด็กก็จะเริ่มจำเสียงของแม่ได้ นอกจากนี้เด็กบางคน ก็จะแสดงให้เห็นว่า เด็กมีความถนัดซ้ายหรือขวา ถ้าเราสังเกต ทั้งนี้จะต้องไม่มีสิ่งอื่นๆ ที่ผิดปกติทางร่างกาย เช่น ชอบนอนตะแคงขวา ชอบดูดนิ้วมือขวา ถ้าเราจับเปลี่ยนไปอีกทาง ก็อาจจะร้องไห้
อย่างไรก็ตาม เด็กจะเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ ท่านอนของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันเรียนรู้ การกินนมจากนมแม่หรือนมขวด เด็กจะพอใจกับการที่จะดูดนิ้วตัวเอง เป็นความพอใจเป็นความสุข เพราะการดูดจะทำให้เหมาะมีความรู้สึกผ่อนคลาย

เดือนที่ 3
เด็กจะเริ่มชันคอ หรือยกศีรษะขึ้นเมื่อนอนคว่ำได้แล้ว แต่บางคนคงจะยังไม่แข็งแรงมากนัก สามารถยกแขน และขาได้ ถ้าจับยืนเด็กจะเหยียบขายันพื้นได้ชั่วครู่ และเรายังจับให้เด็กนั่งลงได้ เริ่มคว้าของด้วยมือทั้งสองข้างบางครั้งก็จะยกมือขึ้นตีสิ่งของ เด็กจะยังคงดูดนิ้วและมองสิ่งของรอบๆ ข้างได้พร้อมๆ กัน

ในระยะนี้เด็กจะเริ่มเรียนรู้โลกภายนอกมากขึ้น เริ่มที่จะสังเกตเสียงและสี รูปร่าง สนใจที่จะฟังเสียงต่างๆ ที่ผ่านเข้ามารอบตัว เด็กจะจำเสียงของพ่อแม่ได้ ส่วนการมองเห็นก็จะสามารถเห็นภาพสิ่งของได้ไกลขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้เด็กจะให้ความสนใจกับมือของตัวเองค่อนข้างมาก การใช้มือตีสิ่งของ คว้าสิ่งของเอามือเข้าปาก กำมือเข้าหากันต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากเด็กเริ่มมองเห็นชัดเจนมากขึ้น และเห็นมือซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวที่จะเล่นด้วยได้ เด็กจะเริ่มจดจำพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เหล่านี้ได้แล้ว การได้เล่น พูดคุย ยิ้ม และส่งเสียง เด็กก็จะเรียนรู้ทำความพอใจของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขและเพลิดเพลินของตัวเอง ดังนั้น เด็กวัยนี้จึงชอบที่จะให้เราพูดคุยและเล่นด้วยเป็นส่วนใหญ่ไม่ชอบให้เราอยู่เฉยๆ ไม่ชอบอยู่คนเดียว เด็กจะสนใจสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวทุกอย่าง การเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาของเด็ก แต่ก็ควรจะทำให้พอเหมาะ ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป

[ ที่มา..นิตยสารบันทึกคุณแม่   ปีที่ 6 ฉบับที่ 66 มกราคม 2542 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น