วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย

การพัฒนาพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย


การพัฒนาพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย
ผศ.วัฒนา  ปุญญฤทธ์
พฤษภาคม  2553
a57
                         การมีวินัยเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานด้านหนึ่งที่ กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ให้สถานศึกษานำไปเป็นจุดมุ่งหมายการพัฒนาด้านจิต พิสัยของนักเรียน  ทั้งนี้ได้ให้ความหมายว่า  การมีวินัยคือการยึดมั่นในระเบียบแบบแผนข้อบังคับและข้อปฏิบัติ  ซึ่งมีทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม  ผู้ที่มีวินัยคือผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบ ของสถานศึกษา  สถาบัน/องค์กร/สังคมและประเทศ  โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจ ขณะเดียวกันสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2552:9) ให้ความหมายว่า  วินัยในตนเองคือความสามารถในการบังคับพฤติกรรมของตนเองด้วยตนเองซึ่งมีวุฒิ ภาวะประเภทหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนควรมี  สำหรับการพัฒนาคุณธรรมด้านการมีวินัยในเด็กปฐมวัยในสถานศึกษานั้น  สามารถพัฒนาไปพร้อมๆกันทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม ซึ่งต้องอาศัยเวลาและการฝึกปฏิบัติให้เด็กมีโอกาสแสดงพฤติกรรมที่เอื้ออำนวย เด็กจะได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติกิจกรรมและพัฒนาไปสู่การมีวินัยในตนเอง และวินัยต่อส่วนรวมในที่สุด
 การพัฒนาคุณธรรมด้านการมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัยสามารถพัฒนาจากกิจกรรม  สภาพแวดล้อม  บรรยากาศของห้องเรียนและการจัดการชั้นเรียนดังนี้
 1.  กิจกรรมที่สนับสนุนการมีวินัยในตนเอง  สารมารถจัดได้ในกิจกรรมดังต่อไปนี้
  1.1  การปฏิบัติตนในกิจวัตรประจำวัน  ซึ่งได้แก่การสนับสนุนให้เด็กปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ในเวลาที่กำหนดให้  เช่น  การเล่น  การพักผ่อน  การรับประทาน  การทำความสะอาดร่างกาย ฯลฯ
  1.2  การปฏิบัติตนในกิจกรรมประจำวันที่สถานศึกษากำหนด  ซึ่งได้แก่การสนับสนุนให้เด็กปฏิบัติตามเวลาของการทำกิจกรรมที่กำหนดและทำ ตามข้อตกลงหรือข้อกำหนดของการทำกิจกรรมนั้นๆ  เช่น  การเล่นตามมุมประสบการณ์หลังจากปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์แล้ว  การเลิกเล่นเมื่อได้ยินสัญญาณให้เลิกพร้อมกับเก็บอุปกรณ์เข้าที่อย่างเรียบ ร้อย  เป็นต้น
  1.3  การจัดประสบการณ์ให้เด็กรับฟัง  รับรู้  มีส่วนร่วม  เกี่ยวกับการมีวินัยในตนเองที่มีผลต่อตนเอง  ต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม  เช่น  การให้ฟังนิทานแล้วแสดงความคิดเห็น  การฟังสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น  แล้วร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสียและกำหนดเป็นแนวทางหรือวิธีที่ พึงปฏิบัติ  การให้ร่วมกันกำหนดกติกา  กฏเกณฑ์  ข้อตกลงต่างๆเพื่อการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น
 2.  สภาพแวดล้อมในห้องเรียน  การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนต้องสนับสนุนให้เด็กมีวินัยในตนเอง  ได้แก่การจัดวัสดุอุปกรณ์ของเล่นของใช้ที่พอเพียงต่อการเล่นหรือการทำ กิจกรรมในแต่ละครั้ง  เพื่อลดปัญหาการแย่งชิงของเล่นของใช้  การกำหนดวิธีการเล่น / ใช้ ที่ชัดเจน  เช่น  การกำหนดจำนวนผู้เข้าเล่นในมุมการเล่นที่แน่นอน  โดยอาจมีการทำป้ายบอกจำนวนผู้เล่นไว้  หากมาทีหลังต้องรอคอยให้ถึงเวลาของตน  รวมทั้งการจัดพื้นที่ของห้องให้เด็กเคลื่อนที่ได้สะดวก  ไม่กระทบกิจกรรมของผู้อื่น  และการจัดของเล่นของใช้ที่เน้นให้เด็กพึงพาตนเองและปฏิบัติตามขั้นตอนหรือ ข้อแนะนำในการเล่น / ใช้ ของนั้นๆ
a58
 3.  บรรยากาศของห้องเรียน  บรรยากาศของห้องเรียนจะต้องส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข  และมีบรรยากาศที่สนับสนุนการมีวินัยในตนเอง  คือมีบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตย  มีการอยู่ร่วมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีการยอมรับซึ่งกันและกัน  มีการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันเท่าที่จะทำได้  มีการให้กำลังใจเพื่อให้เด็กทำสิ่งต่างๆจนประสบความสำเร็จ  และให้โอกาสที่จะได้รับความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน
 4.  การจัดชั้นเรียน  ซึ่งประกอบด้วยการจัดการใน 3 ส่วน  ได้แก่การจัดการด้านกายภาพคือการจัดเรื่องพื้นที่ใช้สอย  พื้นที่ในการทำกิจกรรม  พื้นที่ในการจัดวางอุปกรณ์ เครื่องใช้ และช่องทางจราจรให้มีความสะดวก  มีความพอเพียงในการทำกิจกรรมเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน  การจัดการด้านจิตภาพ  ได้แก่การจัดให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  มีสิทธิและหน้าที่ที่เท่าเทียมกันและมีความเคารพในสิทธิหน้าที่ของแต่ละคน  นำไปสู่การมีวินัยในตนเอง  การจัดการส่วนที่สามคือการจัดการด้านสังคมภาพ  เป็นการจัดการเรื่องข้อกำหนด  กฏเกณฑ์  กติกา  ข้อตกลงต่างๆที่จะให้การดำเนินกิจกรรมประจำวันเป็นไปอย่างราบรื่น  ซึ่งการตกลงเหล่านี้  ครูต้องเปิดโอกาสให้เด็กมีสิทธิและมีส่วนในการแสดงความคิดเห็น  ร่วมตกลง  หลังจากนั้นจะต้องร่วมกันปฏิบัติและดูแลให้ทุกคนปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นๆตลอด เวลา  การจัดการชั้นเรียนดังกล่าวจะเป็นวิธีการหนึ่งในการฝึกฝนให้เด็กรู้หน้าที่  มีความรับผิดชอบและมีวินัย
 การมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย  เป็นลักษณะของการเริ่มแสดงถึงผลของการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมและการฝึกฝนให้ ปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรู้ถึงกฏเกณฑ์  กติกา  ข้อตกลงและสิ่งที่พึงกระทำในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลตนเอง  การปฏิบัติอย่างเหมาะสมในสิ่งที่ต้องกระทำเพื่อให้เกิดผลดีต่อตนเอง  ผู้อื่น  ส่วนรวมหรือสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้เป็นการปฏิบัติอย่างเต็มใจโดยไม่ต้องบอกหรือบังคับ  สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมต่อไปนี้
 1.  ปฏิบัติตามระเบียบของสถานศึกษา
 2.  ปฏิบัติตามข้อตกลงของห้อง
 3.  ทำตามกติกาในการเล่น / ทำกิจกรรม
 4.  ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตนเอง
 5.  เล่น / ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้
 6.  อดทนรอคอยที่จะได้รับสิ่งที่ต้องการ
 7.  เข้าแถวตามลำดับก่อนหลังโดยไม่แซงคิว
 8.  ทำตามที่สัญญาหรือตกลงกันไว้
 9.  ปฏิบัติสิ่งที่ได้รับมอบหมายจนแล้วเสร็จ
 10. ทำงานจนเสร็จตามเวลาที่กำหนด
 11. ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
 12. ใช้ของใช้หรือเล่นของเล่นอย่างระมัดระวัง
 13. เก็บของเข้าที่หลังจากใช้แล้วหรือเล่นเสร็จ
 ใน การสังเกตพฤติกรรมความมีวินัยของเด็กนั้นสามารถสังเกตโดยการบันทึกพฤติกรรม ลงในแบบบันทึก  ขณะที่เด็กทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการเกิดพฤติกรรม เช่น  การสังเกตพฤติกรรมขณะเด็กทำกิจกรรมเสรีที่เด็กมีโอกาสเล่นกับเพื่อน  เล่นกับเครื่องเล่นต่างๆในมุมการเล่น  การเข้าเล่นที่มุมการเล่นโดยปฏิบัติตามข้อตกลงในการเล่น  การปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองและการควบคุมตนเองให้ทำตามเงื่อนไข  ข้อตกลง  และสิ่งที่ควรกระทำ  เป็นต้น  การสังเกตนั้นอาจจะบันทึกในรูปของความถี่ที่แสดงพฤติกรรมหรือตามระดับของ พฤติกรรมนั้นๆ
 การพัฒนาพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย  จึงเริ่มโดยการฝึกหัดเกี่ยวกับพฤติกรรมในกิจวัตรประจำวัน  การทำกิจกรรมประจำวันที่เป็นไปตามกติกา กฎ ระเบียบ ข้อตกลงต่างๆโดยการแนะนำ  ฝึกฝน  ให้การสนับสนุนและการเป็นตัวแบบของผู้ใหญ่  ส่วนการสังเกตพฤติกรรมนั้นสามารถสังเกตขณะที่เด็กทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การเกิดวินัยในตนเอง และบันทึกไว้ในแบบบันทึกเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการจัดประสบการณ์ของครู ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น