วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

มารยาทที่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัย

ความหมายของมารยาทไทย ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่ามารยาทหรือมรรยาท เป็นคำไทย ซึ่งนำมาจากภาษาบาลี ว่า “ มริยาท ” หรือภาษาสันสกฤตว่า “ มรยาทา ” แปลว่า กิริยาวาจาที่ถือว่าเรียบร้อย หมายถึง การปฏิบัติตนโดยผ่านกระบวนการฝึกอบรม ขัดเกลาให้เป็นไปตามความนิยมยอมรับของสังคมแต่ละสังคม

ลักษณะเฉพาะของมารยาทไทย ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาติ และเป็นการแสดงออกต่อผู้อื่นที่นุ่มนวล มีความเป็นระเบียบแบบแผน มีกาละเทศะ คือ

· สุภาพอ่อนน้อม
· เคารพระบบอาวุโส
· มีกิริยาวาจาคำลงท้ายเฉพาะ
· มีการยืน เดิน นั่ง ที่ต่างบรรยากาศ
· มีการแสดงความเคารพ
· การทักทาย
· การใช้วาจา
· การแสดงความคิดเห็น


คุณค่าของมารยาทไทย เรื่องของมารยาทนั้น ยังมักเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องวิธีการเข้าสังคม ปรับตัวให้เข้ากับหมู่คณะเพื่อความเป็นระเบียบ เพื่อความงดงามน่าดู ความจริงแล้วมารยาทเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมของไทย ซึ่งส่วนหนึ่ง มาจากสังคมเกษตรกรรม และอีกส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาต่างๆทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ คนไทยได้รับการยกย่องจากชาวต่างชาติมาช้านานว่า เป็นผู้มีมารยาทอ่อนโยน นุ่มนวล น่ารัก

ลักษณะมารยาทที่ดีในเด็กปฐมวัย สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้ดังนี้
1. มารยาทการพูดจา
· เจรจาไพเราะ มีหางเสียง ครับ หรือ ค่ะ

· รู้จักใช้คำว่า ขอบคุณ และ ขอโทษ ให้เป็นนิสัย

· ไม่พูดเสียงดังเกินไป หรือตะโกนโหวกเหวก เป็นกิริยาที่ไม่งาม

· งดพูดคำหยาบคาย เพราะไม่เป็นมงคลแก่ผู้พูด และผู้ฟัง

2. มารยาทการแสดงออก
· หลีกเลี่ยงการแย่งกันพูด นอกจากจะไม่น่าดูแล้วยังไม่รู้จักการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย

· ฝึกท่าทางประกอบการพูดให้เหมาะสม ไม่ยกมือขวักไขว่ หรือแสดงท่าทางอยู่ตลอดเวลา ฝึกพูดให้มีจังหวะ เสียงชัดเจน พูดสั้นแต่ได้ใจความ ไม่เพ้อเจ้อ เพราะบางคนแก้เขินด้วยการแลบลิ้น การยักคิ้ว โดยไม่ตั้งใจ เมื่อทำบ่อยๆก็จะติดเป็นนิสัยและเสียบุคลิกภาพได้

· แสดงไมตรีจิตด้วยการทักทาย สนใจทุกข์สุข และแสดงความจริงใจ

· การมีสัมมาคารวะ รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ รู้จักเคารพผู้อื่น

· การแสดงออกเมื่อมีโอกาส เป็นมารยาทที่ต้องฝึกให้เป็นนิสัย เช่น มารยาทการลุก นั่ง เดิน ยืน การใช้น้ำเสียง การควบคุมอารมณ์

· มารยาทเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ เช่นไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่นั่งกระดิกเท้า ไม่นั่งเหยียดเท้าถ่างขา เวลาเดินผ่านก็ต้องก้มหลัง หรือถ้าพบผู้ใหย่ก็ต้องแสดงความเคารพ

· รู้จักกล่าวคำสุภาพ ไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่ ต้องมีความนอบน้อมนับถือผู้ใหญ่

· ต้องไม่แสดงกิริยาขัดขวางสิ่งที่นิยมกัน เช่นขณะที่เขานั่งอยู่กับพื้น ตนเองต้องไม่ยืน ขณะที่เขาทุกข์โศกต้องไม่แสดงกิริยารื่นเริง ถ้าเป็นแขกบ้านใดก็ต้องเกรงใจเจ้าของบ้าน เมื่อพบใครต้องไม่จ้องดูเขา

· ต้องรู้จักเกรงอกเกรงใจผู้อื่น รู้จักเคารพผู้อื่น รู้จักแสดงความอ่อนน้อมทั้งกาย วาจา ใจ และแสดงมารยาทกับผู้อื่นได้เหมาะสมกับวัย กับบุคคล กับโอกาส และสถานที่

ปัจจุบันพฤติกรรมการแสดงออกของนักเรียนพบว่า มีมารยาทที่แตกต่างจากเดิมมาก ทั้งยังเป็นไปในทางลบ ไม่ว่าด้านการพูด ด้านการกระทำ และด้านการแสดงออก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปลูกฝังและพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะการปลูกฝังมารยาทไทยนั้นเป็นการซึมซับ ซึ่งวิธีการที่จะช่วยพัฒนามารยาทไทยให้กับเด็กปฐมวัย ได้แก่พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างสำคัญ และต้องคอยอบรม คอยแนะนำ คอยสั่งสอนเด็กอย่างใกล้ชิด ตลอดจนคุณครูประจำชั้น จะต้องมีหน้าที่ให้วิชาความรู้เรื่องมารยาทไทยกับเด็ก และจะต้องฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทให้เด็กเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะจัดผนวกไปกับตารางประจำวันก็ได้ เช่นก่อนเข้าห้องเรียน หรือก่อนกลับบ้านตอนเย็น ตามความเหมาะสมและจำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น