วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญของการอบรมและเลี้ยงดูเด็ก

ความสำคัญของการอบรมและเลี้ยงดูเด็ก

การอบรมและเลี้ยงดูแก่เด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเด็กวัยนี้ต้องการการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน จากบิดา มารดา คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพัฒนาการที่เป็นรากฐานของบุคลิกภาพ อุปนิสัย และการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ สมอง สติปัญญา ความสามารถ เพราะเด็กในช่วงตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์แม่จนถึง 4 ปี ระบบประสาทและสมองจะเจริญเติบโตในอัตราสูงสุด (ประมาณ 80% ของผู้ใหญ่) การอบรมปลูกฝังสร้างเสริมพัฒนาการทุกด้านให้แก่เด็กปฐมวัยได้เจริญเติบโตเต็มศักยภาพในช่วงอายุนี้ จะเป็นรากฐานที่ดีจะให้เขาเติบโตเป็นเยาวชนและพลเมืองที่ดี เฉลียวฉลาด คิดเป็น ทำเป็น และมีความสุข เด็กปฐมวัยจะมีชีวิตรอดและเติบโตได้ก็ด้วยการพึ่งพาพ่อแม่ และผู้ใหญ่ที่ช่วยเลี้ยงดู ปกป้องจากอันตราย หากผู้ใหญ่ให้ความรักเอาใจใส่ใกล้ชิด อบรมเลี้ยงดูโดยเข้าใจเด็ก พร้อมจะตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่เปลี่ยนไปตามวัยได้อย่างเหมาะสมให้สมดุลกันทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา และสังคมแล้ว เด็กจะเติบโตแข็งแรงแจ่มใส มีความมั่นคงทางใจ รู้ภาษา ใฝ่รู้ และใฝ่ดี พร้อมที่จะพัฒนาตนเองในขั้นต่อไป ให้เป็นคนเก่งและคนดีอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขและมีประโยชน์

ความเจริญเติบโตและพัฒนาการ

ความเจริญเติบโต (Growth) หมายถึง การเปลี่ยนแปลง ขนาดของร่างกายและอวัยวะ ซึ่งเกิดจากการเพิ่มจำนวนและขนาดของเซลล์และส่วนหล่อเลี้ยง (Matrix) ทำให้รูปร่างเปลี่ยน เช่นมีขนาดใหญ่ขึ้น สูงขึ้น สัดส่วนเปลี่ยนแปลง การเพิ่มจำนวนเช่นฟัน และการเปลี่ยนลักษณะเช่นการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว
พัฒนาการ (Development) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการทำหน้าที่ (Function) และวุฒิภาวะ (Maturation) ของอวัยวะระบบต่างๆ รวมทั้งตัวบุคคล ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำสิ่งที่ยากสลับซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มทักษะใหม่ๆ และความสามารถในการปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมหรือภาวะใหม่ในบริบทของครอบครัวและสังคม

การเจริญเติบโตของเด็กตั้งแต่แรกเกิด-6 ปี

เด็กในวัยทารกและวัยเด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ เช่น พัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม ตามขั้นตอนที่เป็นแบบแผนและมีทิศทางเฉพาะ ซึ่งการเรียนรู้พัฒนาการในวัยทารกและวัยเด็ก จะช่วยให้เราสามารถเสริมสร้างพัฒนาการของ เด็กได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นเราจึงควรศึกษาถึงพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย เพื่อ ให้เข้าใจถึงการเจริญเติบโตและสามารถทำกิจกรรม เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ของ เด็กในวัยต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
image:1uuuu.jpg
รูปที่ 1 เกณฑ์มาตรฐานการเจริญเติบโตและพัฒนาการ
พัฒนาการไม่ได้หยุดนิ่งเพียงแค่ช่วงใดช่วงหนึ่งของการเจริญเติบโตทางร่างกายเท่านั้น แต่พัฒนาการจะยังคงมีต่อไปจนตลอดชีวิตของมนุษย์
Image:2.jpg
รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงทางด้านสัดส่วนของร่างกายตามวัย

หลักการจัดอาหารและให้อาหารแก่เด็กปฐมวัย

ความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

น้ำนมแม่สามารถใช้เลี้ยงลูกได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุขวบปีที่ 2 เพราะประกอบด้วย น้ำที่เพียงพอสำหรับทารก โปรตีนและไขมันในปริมาณที่เหมาะสม มีน้ำตาลแลกโตสที่เด็กทารกต้องการ มีวิตามินและธาตุเหล็กเพียงพอ ปริมาณแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่เหมาะสม มีน้ำย่อยพิเศษ (Lipase) ช่วยย่อยไขมัน น้ำนมแม่สะอาดและปลอดภัยจากเชื้อแบคทีเรีย มี Anti-infection ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ ทารกที่กินนมแม่จะเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ และการอักเสบของหูชั้นกลางน้อยกว่าเด็กที่กินนมขวด นอกจากนี้เมื่อเป็นโรคติดเชื้อก็จะหายเร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เด็กที่ได้ดูดนมแม่จะได้รับความอบอุ่นทางด้านจิตใจ อันเป็นรากฐานต่อสุขภาพจิตและการปรับตัวเข้ากับสังคม เมื่อฟันบนขึ้นจะทำให้ฟันไม่ซ้อนกันและไม่กร่อน ท้องไม่ผูกขับถ่ายง่าย นอกจากนี้แล้วการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อแม่คือ ทำให้มดลูกหดตัวเข้าอู่เร็ว ขับน้ำคาวปลาได้ดีเป็นการป้องกันการตกเลือดหลังคลอด ลดความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง รูปร่างของแม่กลับคืนสภาพเดิมเร็ว ช่วยการคุมกำเนิดและพบว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ได้ กระตุ้นให้เกิดความเป็นแม่ เกิดความรักความผูกพัน ระหว่างแม่กับลูก ส่งเสริมความรัก ความผูกพัน และความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ช่วยประหยัดรายจ่ายของครอบครัว เกิดประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติในการลดปัญหาทางสังคม ลดจำนวนเด็กขาดความอบอุ่นจนต้องพึ่งพายาเสพติด ก่ออาชญากรรมหรือปัญหาต่าง ๆ ทำให้ประเทศชาติมีประชากรที่มีคุณภาพ

หลักการให้อาหารเด็ก

ควรคำนึงถึง ประโยชน์ ความเพียงพอ มีสารอาหารครบถ้วน ความสะอาด รสชาติอ่อนๆ หาได้ง่าย การให้อาหารเด็กปฐมวัยควรให้เด็กได้ฝึกทักษะการช่วยเหลือตัวเองในการหยิบจับอาหารใส่ปาก ไม่ควรบังคับให้เด็กกิน ควรชี้แนะเชิญชวนให้เด็กสนใจในอาหารต่างๆ จัดอาหารให้หลากหลายปรับแต่งรูปลักษณ์ของอาหารให้เป็นที่สนใจของเด็ก หมั่นสังเกตพฤติกรรม การแสดงออกของเด็กต่ออาหารที่กิน และควรปลูกฝังสุขนิสัยบริโภคนิสัยที่ดีในการบริโภคอาหารตั้งแต่ปฐมวัย

สุขภาพและโภชนาการ

โภชนาการที่ดีเป็นอย่างไร

เป็นธรรมดาที่พ่อแม่มักให้ลูกกินอาหารที่พ่อแม่เคยกินสมัยเป็นเด็ก วัฒนธรรมการกินก็เหมือนด้านอื่นๆ เป็นตัวเชื่อมครอบครัวไว้ด้วยกันทั้งอดีตและปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการช่วยให้เราเรียนรู้ว่าอาหารอะไรดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอาหารบางอย่างที่ผู้ใหญ่กินและลูกกิน ปัญหาที่พบคือ ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากติดตามข่าวคราว เราจะเห็นความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน บางครั้งทำให้เกิดความสับสนว่าอะไรควรกิน อะไรไม่ควร ยิ่งไปกว่านั้นคือ คำแนะนำต่างๆส่วนใหญ่เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงว่าดีที่สุดหรือปลอดภัยเพียงพอสำหรับเด็กซึ่งกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความสับสนที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าอาหารเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เนยแข็ง อาหารทอด และอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ล้วนแต่เป็นอาหารที่มีประโยชน์น้อย ขณะที่อาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญญาหาร ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นอาหารจรรโลงสุขภาพ ช่วยต้านโรคภัยไข้เจ็บ ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำอาหารไขมันต่ำ เช่น นมพร่องมันเนย และกินเนื้อสัตว์จำนวนน้อยๆ ขณะที่บางคนแนะนำให้งดกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมทุกชนิด ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ ความท้าทายคือ ทำอย่างไรถึงจะประยุกต์รูปแบบการกินอาหารสุขภาพให้เข้ากับรูปแบบการกินของครอบครัว บางทีอาจทำได้ง่าย แค่ลดการกินของทอด เนื้อแดง เนื้อติดมัน และนมไขมันสูง ก็ทำให้มีโภชนาการที่ดีได้โดยไม่รู้สึกลำบากแต่อย่างใด คำแนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้ครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวสุขภาพได้โดยไม่ยากเกินไป

เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกิน

  • เป็นความจริงที่ไม่เคยเปลี่ยน ที่บอกว่าอาหารไขมันและพลังงานสูงที่ชาวอเมริกันตอนเหนือนิยมกินกันนั้น ก่อให้เกิดโรคมากมายในผู้ใหญ่ ไม่ว่าโรคอ้วน โรคเส้นเลือดหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด และที่มากกว่านั้นคือ โรคเหล่านี้เริ่มก่อร่างหรือตั้งเค้าได้ตั้งแต่วัยเด็ก อย่างที่มีศึกษาพบว่า เด็กวัย 3 ขวบชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยมีไขมันสะสมในเส้นเลือดซึ่งเป็นขั้นแรกที่นำไปสู่การเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันและเส้นเลือดสมองแตกและตีบ เด็กวัย 12 ปีจำนวนร้อยละ 70 พบว่าเริ่มมีความผิดปกติภายในเส้นเลือด และเกือบทุกรายของคนอายุ 21 ปีมีความผิดปกติภายในเส้นเลือด ซึ่งนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูงและปัญหาโรคทางกายและจิตใจ คือ โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม และความไม่มั่นใจในการเข้าสังคมด้วย
  • ดังนั้นหากไม่ต้องการให้โรคร้ายตั้งเค้าตั้งแต่เด็ก การสร้างนิสัยการกินที่ดีตั้งแต่วัยเด็กจึงไม่ควรละเลย พ่อแม่ที่คอยนำเสนออาหารมีประโยชน์ (ผัก ผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง) ให้ลูกอย่างรื่นเริง ไม่บังคับ และสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลูกชอบและยอมรับอาหารเหล่านี้ได้ง่าย โดยพ่อแม่ต้องมีของมีประโยชน์เหล่านี้บนโต๊ะอาหารเสมอและพร้อมจะกินเป็นตัวอย่าง
Image:3.jpg
รูปที่ 3 อาหารดีมีประโยชน์
Image:4.jpg
รูปที่ 4 อาหารที่เด็กไม่ควรรับประทาน
การจำกัดเวลาการดูทีวีของเด็กช่วยลดความเสี่ยงกับอาหารไร้คุณภาพ เพราะว่าเด็กมักไม่สนใจว่ากินอาหารไม่ดีแล้วจะเป็นอย่างไร แต่สนใจกินหากเห็นโฆษณาจากทีวี ซึ่งมักเป็นอาหารที่ไม่ดี มีไขมันสูง หวานและเค็มมากเกินไป ความสัมพันธ์ระหว่างการดูทีวีกับปัญหาโรคอ้วนเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้ว เด็กยิ่งดูทีวีมากยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน

  • โปรตีน เป็นองค์ประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อ หัวใจ สมอง และไต กระดูกในร่างกายก็ใช้โปรตีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างหลัก เด็กจึงควรได้โปรตีนเพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในแต่ละวัน โปรตีนยังเป็นแหล่งของพลังงานในยามที่ร่างกายมีพลังงานหลักไม่เพียงพอ เราหาโปรตีนได้จากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ และผลิตภัณฑ์นม แต่สิ่งเหล่านี้มักมีไขมันและคอเลสเตอรอลค่อนข้างสูง ขณะที่ผัก ถั่วเมล็ดแห้งและธัญพืช ก็ให้โปรตีนเช่นกัน แต่ไม่มีไขมันที่อันตรายดังกล่าว
Image:5.jpg
รูปที่ 5 อาหารจำพวกโปรตีน
  • คาร์โบไฮเดรตโมเลกุลเดี่ยวและเชิงซ้อน ได้แก่ แป้งและน้ำตาล ซึ่งล้วนให้พลังงานแก่ร่างกายทั้งสิ้น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนประกอบด้วยเส้นใย (ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง) ต้องผ่านการย่อยสลายก่อนที่จะดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคง ส่วนคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลเดี่ยว เช่น น้ำตาลและน้ำผึ้ง เป็นแหล่งให้พลังงานที่รวดเร็ว แต่หมดได้รวดเร็ว ทำให้หิวเร็ว จึงต้องกินเพิ่มอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุของโรคอ้วน อาหารรสหวาน เช่น ลุกกวาด โดนัท ขนมเค้ก น้ำอัดลม ให้พลังงาน แต่ไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการ แล้วยังทำให้ฟันผุ
  • ไขมัน ไขมันและน้ำมันให้พลังงานและสร้างเซลล์ในร่างกาย พลังงานที่ได้จากไขมันสูงกว่าจากโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ชนิดของไขมันแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไขมันอิ่มตัว พบมากในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม และไขมันไม่อิ่มตัว พบในพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำมันมะกอก เมล็ดดอกทานตะวัน งา ส่วนมาร์การีนเป็นไขมันคุณภาพต่ำ ทำมาจากไขมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีเติมไฮโดรเจน ทำให้แข็งตัว พบมากในอาหารอบกรอบ ทั้งไขมันจากสัตว์และมาร์การีนเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก
Image:6.jpg
รูปที่ 6 อาหารประเภทไขมัน
กรดไขมันหลายชนิดร่างกายผลิตเองได้ แต่มีบางชนิดผลิตไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร เช่น ไลโนเลอิก (linoleic) และไลโนเลนิก (linolenic) ซึ่งพบได้ในถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดพืช และผักใบเขียวบางชนิด ในน้ำนมแม่ มีสารจำเป็นเหล่านี้ครบถ้วน แต่ในนมวัวมีน้อยมาก
*เส้นใยอาหาร ผัก ผลไม้ ข้าวไม่ขัดสี ถั่วฝัก มีสารที่ร่างกายย่อยและดูดซึมไม่ได้ แต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เรียกว่าเส้นใยอาหาร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดละลายน้ำได้ พบในข้าวโอ๊ตและเพกติน และชนิดละลายน้ำไม่ได้ พบในผัก เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย
Image:7.jpg
รูปที่ 7 อาหารที่มีเส้นใย
เส้นใยอาหารทำหน้าที่ช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดี คนที่กินเส้นใยอาหารน้อย เช่น ชอบกินแต่เนื้อสัตว์ นม และไข่ อาจมีปัญหาท้องผูก ปัจจุบันพบว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้อาจเป็นเพราะมีการตกค้างของอาหารเก่าๆอยู่ในลำไส้ใหญ่นานเกินไป นอกจากนี้เส้นใยอาหารยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด คาร์โบไฮเดรตโมเลกุลเดี่ยว หรือน้ำตาลและข้าวที่ผ่านการขัดสีมีเส้นใยอาหารน้อยมาก พลังงานค่าพลังงานที่ได้จากอาหารมีหน่วยวัดเป็นแคลอรี น้ำ เกลือแร่ และวิตามินไม่ให้พลังงาน ไขมันให้พลังงานสูงเป็นสองเท่าของโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต อาหารประเภทเนย เนยแข็ง มาร์การีน น้ำมันพืช ครีม และน้ำสลัด ล้วนแต่ให้พลังงานสูงมาก ส่วนเนื้อสัตว์ ปลา และไข่ให้พลังงานสูงจากไขมันที่แทรกอยู่ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ ล้วนแต่ให้พลังงานสูงเช่นกัน ผักส่วนใหญ่ให้พลังงานต่ำ (ยกเว้นบางอย่าง เช่น อะโวคาโด เพราะมีไขมันสูง) เนื่องจากส่วนประกอบเป็นน้ำ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน และเส้นใยอาหาร ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสีจะมีเส้นใยอาหารมาก ทำให้รู้สึกอิ่มได้โดยให้พลังงานไม่มาก อาหารประเภทถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วลิสง เกาลัด อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ให้พลังงานสูงเพราะมีไขมันมาก คนจำนวนมากคิดว่าแคลอรีเป็นสิ่งเลวร้าย ที่จริงแล้วหากไม่มีพลังงานชีวิตจะดำรงอยู่ไม่ได้ แคลอรีมากเกินไปต่างหากที่ไม่ดี *น้ำ น้ำไม่ให้พลังงานและวิตามิน แต่น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 60-70 ในร่างกายเด็ก น้ำที่อยู่ในนมแม่และนมขวดมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของทารก ส่วนในวัยหัดเดินจำเป็นต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้น เพราะมีการสูญเสียน้ำทางเหงื่อมากขึ้นจากการเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ
Image:8.jpg
รูปที่ 8 น้ำ
  • เกลือแร่ เกลือแร่ช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ แคลเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส เกลือแร่ได้จากอาหาร และสูญเสียไปทางผิวหนังและเยื่อบุลำไส้ที่หลุดลอก หรือออกทางปัสสาวะ
อาหารธรรมชาติ เช่น ข้าวที่ไม่ได้ผ่านการขัดสี จะมีเกลือแร่มากกว่าที่ผ่านการขัดสี ผักที่สุกแล้วไม่สูญเสียเกลือแร่ แต่ลดปริมาณวิตามินลง อาหารเกือบทุกอย่างมีฟอสฟอรัสและแมกนีเซียมมากมาย จึงไม่ค่อยมีปัญหาร่างกายได้รับไม่เพียงพอ
  • แคลเซียม กระดูกและฟันประกอบด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส นักโภชนาการแนะนำว่า เด็กอายุ 1-3 ขวบต้องการแคลเซียม 500 มิลลิกรัมต่อวัน อายุ 4-8 ขวบ ต้องการ 800 มิลลิกรัมต่อวัน อายุ 9-18 ปีต้องการ 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน วิธีที่สะดวกในการได้รับแคลเซียม คือ การกินนมและผลิตภัณฑ์จากนม ทำให้มีการรณรงค์ให้ดื่มนมกันมากขึ้น
กระทั่งไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเริ่มสงสัยว่า จริงๆแล้วเราต้องการแคลเซียมเท่าใดแน่ เคยมีการศึกษาเด็กหญิงอายุ 12-20 ปี พบว่าการกินแคลเซียมมากกว่าวันละ 500 มิลลิกรัมไม่ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก แต่สิ่งที่ช่วยเพิ่มความหนาแน่นกระดูกคือการออกกำลังกาย เด็กที่ออกกำลังกายจะมีกระดูกที่แข็งแรงกว่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆพบว่า แคลเซียมจากผลิตภัณฑ์นมจะถูกขับออกทางปัสสาวะมากกว่าแคลเซียมที่ได้จากอาหารแหล่งอื่นที่ไม่ใช่นม อาหารแหล่งอื่นที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ผักใบเขียว เช่น คะน้า บรอกโคลี ถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง งา อาหารเสริมแคลเซียม เช่น น้ำผลไม้เสริมแคลเซียม ซีเรียลเสริมแคลเซียม หรือแคลเซียมเม็ด เด็กที่ไม่ได้กินนมวัวควรได้รับวิตามินดีเสริมเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมเข้าร่างกาย เช่น การรับแสงแดด หรือการกินวิตามินเสริม
  • ธาตุเหล็ก เหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของเฮโมโกลบิน ซึ่งอยู่ในเม็ดเลือดแดงทำหน้าที่นำออกซิเจนไปให้เซลล์ต่างๆของร่างกาย เหล็กยังช่วยพัฒนาการของสมอง เด็กที่ขาดธาตุเหล็กแม้ไม่รุนแรง ส่งผลต่อการเรียนรู้ นมแม่มีเหล็กที่ดูดซึมไปใช้ได้ง่าย และมีปริมาณเพียงพอสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ส่วนนมวัวมีธาตุเหล็กน้อย จึงต้องเสริมให้เพียงพอกับความต้องการของทารก รวมถึงมีการเติมสารอื่นๆที่ทารกต้องการ กลายเป็นนมผงสำหรับเลี้ยงทารก ห้ามนำนมวัวมาให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบกิน เนื้อสัตว์ประเภทหมูและวัว ซีเรียลเสริมธาตุเหล็ก ผักใบสีเขียว มีธาตุเหล็กเช่นกัน
  • สังกะสี เป็นแร่ธาตุสำคัญที่อยู่ในเอนไซม์หลายชนิดในร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตของเซลล์ หากขาดสังกะสีจะส่งผลต่อเซลล์ร่างกายที่แบ่งตัวเร็วๆ เช่น เซลล์เยื่อบุลำไส้ เซลล์ผิวหนัง ระบบภูมิต้านทานโรค นมแม่มีปริมาณสังกะสีเพียงพอและดูดซึมได้ง่าย อาหารที่มีสังกะสีสูงได้แก่เนื้อสัตว์สีแดง เช่น หมูและวัว ปลา เนยแข้ง ข้าวไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้งและถั่วเปลือกแข้ง สังกะสีที่ได้จากพืชดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย ดังนั้นเด็กที่กินมังสวิรัติจำเป็นต้องได้รับวิตามินเสริมที่มีสังกะสี
  • ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุสำคัญสำหรับต่อมไทรอยด์เพื่อสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ เด็กที่ขาดไอโอดีนจะมีพัฒนาการสมองช้าผิดปกติ เกลือเสริมไอโอดีนช่วยป้องกันปัญหาได้
  • โซเดียม พบมากในเกลือปรุงอาหาร เป็นสารประกอบสำคัญในเลือด ไตช่วยรักษาสมดุลโซเดียม เช่น หากกินเกลือมากเกินไป ร่างกายจะกำจัดส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ในกระบวนการดังกล่าวทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมออกไปด้วย จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนกินเค็มมากๆจะมีปัญหากระดูกอ่อนแอเมื่ออายุมากขึ้น และทำให้มีปัญหาความดันโลหิตสูงในบางคน
  • วิตามิน ร่างกายต้องการวิตามินจำนวนเล็กน้อย พบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ผัก ข้าวไม่ขัดสี ผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดพืช เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน งา ถึงแม้ไม่กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เราสามารถกินวิตามินได้ครบทุกตัวจากอาหารมังสวิรัติ ยกเว้นวิตามินตัวเดียวที่ต้องเสริมคือ วิตามินบี 12 โดยการกินซีเรียลหรืออาหารเสริมวิตามินบี 12 หรือกินวิตามินเสริมก็ได้
  • วิตามินเอ ร่างกายสร้างวิตามินเอจากเบต้าแคโรทีน ซึ่งพบมากในผักและผลไม้สีส้มหรือเหลือง เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอ อวัยวะที่ต้องอาศัยวิตามินเอได้แก่ ปอด ลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ และที่สำคัญมาคือ ตา ผู้มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอคือผู้เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ทำให้ดูดซึมวิตามินเอไม่ได้ หรือมีภาวะขาดสารอาหาร การกินวิตามินเอชนิดเสริมหรือสังเคราะห์มากเกินไปเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากได้รับจากผักหรือผลไม้ก็ไม่เป็นอันตราย
  • วิตามินบีรวม รู้จักกันดี ได้แก่ บี 1 บี 2 บี 3 และ บี 6 ทั้งสี่ชนิดเป็นส่วนประกอบในเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย โดยสามชนิดแรกพบในอาหารประเภทไข่ นม ตับ เนื้อหมู เนื้อวัว ข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วลันเตา ถั่วลิสง อาหารเสริมวิตามิน เช่น ซีเรียล ขนมปัง พาสต้า โอกาสขาดวิตามินตัวนี้เกิดขึ้นน้อยมาก ยกเว้น กรณีกินแต่แป้งขัดสีหรือน้ำตาล โดยไม่กินอาหารอื่นเลย วิตามินบี 6 พบในกล้วย กะหล่ำปลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวไม่ขัดสี แคนตาลูป
  • วิตามินบี 12 พบได้ในเนื้อสัตว์และนมเท่านั้น ไม่พบในผักและผลไม้ เด็กที่กินมังสวิรัติควรได้รับวิตามินตัวนี้เสริม วิตามินบี 9 หรือโฟเลต เป็นตัวสำคัญในการสร้างดีเอ็นเอและเม้ดเลือดแดง พบได้ในปวยเล้ง บรอกโคลี ผักกาดเขียว ข้าวไม่ขัดสี และผลไม้ เช่น แคนตาลูป สตรอว์เบอร์รี่ มีความสำคัญสำหรับการสร้างสมองและไขสันหลังของทารกในครรภ์ หญิงที่เตรียมตัวตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินตัวนี้เพื่อป้องกันความพิการของลูก
  • วิตามินซี ช่วยสร้างกระดูก ฟัน เส้นเลือด และเนื้อเยื่ออีกหลายชนิด พบมากในส้ม มะนาว องุ่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี วิตามินซีถูกทำลายโดยความร้อน ผู้กินวิตามินซีจากผักผลไม้เป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง อาการของการขาดวิตามินซี คือ ฟกช้ำง่าย ผื่นตามตัว เลือดออกตามไรฟัน ปวดข้อ
  • วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากลำไส้ไปสะสมที่กระดูก ร่างกายสร้างวิตามินตัวนี้เองได้โดยอาศัยแสงแดด คนผิวดำต้องการแสงแดดเพื่อใช้สร้างวิตามินดีมากกว่าคนผิวขาว เพราะเม็ดสีที่ผิวหนังคอยสกัดไว้
  • วิตามินอี พบในถั่วเปลือกแข้ง เมล็ดพืช ข้าวไม่ขัดสี น้ำมันพืช ข้าวโพด ปวยเล้ง บรอกโคลี และแตงกวา วิตามินอีช่วยต่อต่านอนุมูลอิสระภายในร่างกายที่เป็นสาเหตุของโคมะเร็งและความชรา อาหารมังสวิรัติมีวิตามินอีจำนวนมาก แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าการกินวิตามินอีสังเคราะห์มากเกินความจำเป็นมีผลอย่างไรต่อร่างกาย
พิษของวิตามินหากร่างกายได้รับวิตามินสังเคราะห์ในปริมาณที่มากกว่าปกติ 10 เท่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ที่พบบ่อยคือ วิตามินเอ ดี และเค

บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็ก

image:9.jpg
รูปที่ 9 บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยง
จากการที่เด็กจำนวนมากยังต้องประสบปัญหาทางจิตใจ ก่อให้เกิดพฤติกรรม ต่าง ๆ เช่น ลักขโมย ติดยาเสพย์ติด อยากฆ่าตัวตาย ฯลฯ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่พ่อแม่ทุกคนจะเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ทั้ง ๆ ที่มีความรักให้ลูกอย่างเต็มเปี่ยม การเลี้ยงลูกเป็น จึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ควบคู่กับการศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกในแต่ละวัย ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้ได้ชื่อว่าบิดาแห่งวงการสุขภาพจิตของไทย กล่าวไว้ว่า เด็กมีปัญหาไม่มี มีแต่ผู้ใหญ่มีปัญหา เป็นสิ่งแสดงว่า บทบาทของพ่อแม่ที่กระทำต่อลูกมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเจริญ เติบโตเป็น “คน” ของลูก ในที่นี้จะกล่าวถึงบทบาทของพ่อแม่ ในฐานะต่าง ๆ อันเป็นกลวิธีที่จำเป็นในการอบรมเลี้ยงดูลูก ดังนี้

1. พ่อแม่ผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกร่วมกัน

โดยยึดหลักของการทำงานเป็นทีมร่วมกัน หากพ่อแม่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ควรทำความตกลงกันในข้อแตกต่างว่าควรจะดำเนินการฝึก อบรมและปกครองลูกอย่างไรดี เมื่อตกลงกันได้แล้ว ทั้งพ่อและแม่มีความเห็นสอดคล้องกัน ลูกก็จะไม่เห็นความขัดแย้งของพ่อแม่จนเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ขัดกัน ในการเลี้ยงดูลูก จะปรับตัวได้ดีและมีความสุข หรืออีกอย่างหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตีหรือง้อลูก อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ควรตีหรือดุด่าอีกแรงหนึ่ง เพราะจะสร้างความรู้สึกกดดันให้เกิดกับลูกว่า ไม่มีใครเห็นอกเห็นใจ ไร้ที่พึ่ง และที่สำคัญอาจจะทำให้ลูกคิดไปว่าพ่อแม่ไม่รัก

2. พ่อแม่ผู้เป็นครูคนแรกของลูก

ความเป็นครูเริ่มต้นจากการคุยกับลูกตั้งแต่เมื่อลูกลืมตาดูโลก โดยพูดกับลูกได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเวลาอาบน้ำ แต่งตัว เปลี่ยนผ้าอ้อม รวมทั้งขณะอุ้มและกอด ใช้การพูดที่ชัด หลีกเลี่ยง การพูดภาษาแบบเด็ก ๆ และถ้อยคำที่สูงเกินกว่าที่ลูกจะเข้าใจได้ เสียงของพ่อแม่มีความจำเป็นต่อพัฒนาการของลูกในวัยนี้อย่างมาก การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน โดยหาหนังสือสนุก ๆ และน่าสนใจที่เหมาะแก่วัยมาอ่านให้ลูกเล็กฟัง การอ่านออกเสียงเพียงวันละ 5-10 นาที จะเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา สติปัญญาของลูกได้อย่างดียิ่ง ความใกล้ชิดขณะ อ่านหนังสือยังจะทำให้พ่อแม่ลูกมีความรู้สึกผูกพันซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น นอกจากนี้การพาลูกไปแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ น้ำตก ภูเขา เท่ากับเป็นการสอนลูกให้รู้จักธรรมชาติ ชื่นชมสิ่งที่ดีงามและมีคุณค่ากับจิตใจ กิจกรรมเหล่านี้จะประทับใจลูกตลอดไป

3. พ่อแม่ผู้เป็นเพื่อนเล่นของลูก การเล่นเป็นสิ่งสำคัญ

เพราะการเล่นของลูกช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต และมีพัฒนาการให้ร่างกายแข็งแรง สร้างทักษะในการคิดสร้างสรรค์ พ่อแม่จึงควรหาเวลาเล่นกับลูก การเล่นกับลูกนั้นยังแสดงว่าพ่อแม่รักลูกและยอมรับโลกของลูก เช่น เมื่อลูกชักชวนให้พ่อแม่มาเตะฟุตบอล หรือลูกชักชวนแม่วาดรูประบายสีด้วยกัน พ่อแม่ควรสนองความต้องการของลูกน้อยทันที

4. พ่อแม่ผู้เป็นตัวอย่างของลูก

ตัวอย่างจากพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี เพราะตามธรรมชาติของเด็กเป็นคนเลียนแบบอยู่แล้ว พ่อแม่จึงต้องทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อให้ลูกได้ลอกเลียนแบบด้วยวิธีการที่ว่า เลี้ยงลูกถูกวิธีคือ ทำดีให้ลูกดู พ่อแม่ส่วนมากมักมีความคิดที่จะให้ลูกทำตามที่ตนสั่ง แต่ไม่อยากให้ทำในสิ่งที่ตนทำ คำสั่งของพ่อแม่จึงไม่ศักดิ์สิทธิ์เลย ในเมื่อผู้ใหญ่สั่งให้เด็กทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ทำเป็นตัวอย่าง เช่น สั่งห้ามไม่ให้ลูกสูบบุหรี่ ในขณะที่พ่อสูบได้ ซึ่งเด็กคิดว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เด็กเกิดความสับสนระหว่างคำพูดและการกระทำของผู้ใหญ่

5. พ่อแม่ผู้มีความเสมอภาค คือปฏิบัติต่อลูกอย่างเท่าเทียมกัน

ไม่มีความลำเอียงหรืออคติ เข้าทำนองเลือกที่รักมักที่ชัง อันจะนำไปสู่การเปรียบเทียบและเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าพ่อแม่ไม่รัก ดังเช่นครอบครัวหนึ่งมีลูก 2 คน ลูกชายมีร่างกายพิการ น้องสาวได้รับการเอาใจจากพ่อแม่ต่างกัน ทั้งเรื่องเงินทองและเครื่องแต่งกาย ความไม่เท่าเทียมกันนี้ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ จนกระทั่งคิดฆ่าตัวตาย ดังนั้น ผู้เป็นพ่อแม่ควรให้ความยุติธรรมแก่ลูก ๆ ควรสอนให้ลูกเคารพในสิทธิของผู้อื่น ลูกต้องเรียนรู้ที่จะไม่หยิบของที่ไม่ใช่ของตัวเอง น้องต้องไม่แย่งของพี่ ถ้าอยากได้ก็ขอ ดี ๆ พี่มีสิทธิ์ที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ พี่ไม่จำเป็นจะต้องตกอยู่ในฐานะผู้เสียสละอยู่ร่ำไป แต่ในทางปฏิบัติ พ่อแม่จะต้องแสดงให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างของการให้และการแบ่งปัน

6. พ่อแม่คือผู้ที่มีเวลาคุณภาพให้ลูกเสมอ

พ่อแม่ที่เห็นความสำคัญของลูกเป็นอันดับแรกจะมีเวลาอยู่ร่วมกับครอบครัว เพราะเล็งเห็นว่าความสำเร็จในหน้าที่การงานจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าครอบครัวมีปัญหา พ่อแม่สมัยนี้มักจะทำงานนอกบ้าน แม้จะมีเวลาว่างไม่มากนัก ก็ต้องพยายามหาเวลาคุณภาพที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทานอาหารเย็นพร้อมหน้ากัน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาของครอบครัว เป็นเวลาที่มีความหมายเหลือเกิน เพราะเป็นเวลาที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้พบกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่น่าพอใจและสนุกสนานร่วมกัน เป็นบรรยากาศของความรัก ความใกล้ชิด และการเพิ่มความผูกพันต่อกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมอย่างอื่นที่พ่อแม่ลูกจะทำร่วมกันได้มีมากมาย เช่น การทำกับข้าว ล้างรถการเล่นเกมต่อภาพ การเล่นกีฬา เล่นดนตรี การออกกำลังกาย การไปพักผ่อนเป็นครอบครัว การเดินทางเที่ยวไปตามธรรมชาติตามป่าเขาลำเนาไพร เป็นต้น

7. พ่อแม่ผู้มีเมตตาธรรม ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็ก ๆ ย่อมทำอะไรผิดพลาดได้

เช่น ทำข้าวของในบ้านเสียหายทำแก้ว จานแตก โดยไม่ได้เจตนา ถ้าลูกยังเล็ก ๆ ก็อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อมือยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนลูกที่โตแล้วก็อาจทำไปเพราะความพลั้งเผลอ
การปรึกษาและการพบแพทย์

การปรึกษาและการพบแพทย์

การตรวจสุขภาพตามนัด

  • วิธีที่ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกจะมีสุขภาพที่ดีคือการพาลูกไปตรวจสุขภาพตามนัด โดยมากแล้วการตรวจครั้งแรกคือภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด ส่วนครั้งต่อไปมักเป็นไปตามตารางการฉีดวัคซีนคือ 1 หรือ 2 เดือน 4, 6, 9, 12, 18, 24 เดือน และทุก 6 – 12 เดือนหลังจากนี้
  • เวลาที่พบกัน หมอจะถามว่าเด็กสบายเป็นอย่างไร สบายดีหรือไม่ ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง ความยาวรอบศีรษะ ตรวจร่างกาย และประเมินพัฒนาการของลูก หากผลการตรวจปกดี หมอจะแนะนำเรื่องการดูแลเด็กในด้านต่างๆ เช่น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้อาหารเสริมตามวัย การกระตุ้นพัฒนาการ การดูแลเรื่องความปลอดภัย การฝึกระเบียบวินัยและการฝึกให้เด็กช่วยเหลือตนเอง การพูดคุยปรึกษาเรื่องต่างๆ จะช่วยพัฒนาความคุ้นเคยและความไว้วางใจระหว่างคุณและหมอ

การป้องกันการได้รับอันตราย

การดูแลลูกให้ปลอดภัย

  • ความปลอดภัยของลูกคืองานที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่ งานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก การให้คุณค่าความสำคัญต่อลูก การฝึกระเบียบวินัย ความสนุก และการศึกษา ไม่มีความหมายอันใดเลย หากปราศจากความปลอดภัย เราพ่อแม่สัญญากับลูกว่าจะดูแลให้เขาปลอดภัย และลูกก็คาดหวังสิ่งนั้นจากพ่อแม่ จุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางจิตของทารกคือ ความเชื่อใจว่าผู้ดูแลสามารถดูแลเขาให้ปลอดภัยได้ (trust)
  • ส่วนใหญ่แล้วสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์เป็นเรื่องของความปลอดภัย ทารกร้องไห้ กระตุ้นให้พ่อแม่อุ้ม หรือให้นม ปฏิกิริยาเหล่านี้ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดมาได้ แม้ในยุคปัจจุบันยังมีอันตรายอยู่รอบๆ การได้รับอันตรายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กอายุมากกว่า 1 ขวบ เป็นตัวเลขที่มากกว่าการตายจากโรคทุกโรครวมกัน ในแต่ละปี เด็กจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนต้องพบแพทย์เพราะการได้รับอันตราย จำนวน 1 ใน 6 ของเด็กที่นอนโรงพยาบาล เพราะการได้รับอันตรายมีความพิการถาวรติดตัว และมากกว่า 5 พันคนเสียชีวิต
  • ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้จะมีการตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว มีการรณรงค์กระตุ้นเตือนสาธารณะ และมีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้นแล้วก็ตาม ก็ยังพบว่าในโลกนี้ยังเป็นสถานที่อันตรายสำหรับเด็กๆ อยู่ดี
  • จุดประสงค์ของการกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อทำให้คุณกลัว แต่เพื่อช่วยให้คุณระมัดระวังมากขึ้น ยิ่งคุณรู้เรื่องภยันตรายที่รอลูกอยู่นอกบ้านและในบ้าน ยิ่งทำให้คุณช่วยลูกให้ปลอดภัยได้โดยที่ขณะเดียวกันคุณยังดำเนินชีวิตด้านอื่นๆ ที่สำคัญของคุณต่อไปได้

โรคที่พบในเด็ก

  • โรคหัด
ช่วง 3-4 วันแรกที่เป็นไข้ยังไม่มีผื่นขึ้น อาการจึงคล้ายกับโรคหวัด มีตาแดงและขี้ตา เด็กมักมีอาการไอรุนแรง ไข้สูงทุกวัน ในวันที่ 4 เริ่มมีผื่นเป็นสีชมพูขอบเขตไม่ชัดเจน ขึ้นที่หลังใบหู แล้วลามมาที่ใบหน้าและลำตัว เป็นผื่นขนาดใหญ่และสีเข้ม ไข้และอาการไอยังคงอยู่ จนกระทั่งผื่นกระจายทั่งตัว อาการไข้และไอจึงเริ่มดีขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่พบอยู่บ่อยที่สุดคือ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ นึกถึงภาวะแทรกซ้อนเมื่อไข้ไม่ลดลงตามระยะเวลา หรือไข้ลดแล้วกลับมาใหม่ ไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับโรคหัด แต่มีการป้องกัน ภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษา แต่รักษาได้ด้วยยา ถ้าลูกได้รับวัคซีนครบ โอกาสเป็นโรคน้อยมาก หากสงสัยว่าลูกอาจเป็นหัดควรปรึกษาแพทย์หากลูกมีอาการไอ ไข้และผื่น ระยะฟักตัวของหัดคือ 9-16 วันหลังจากรับเชื้อ แพร่เชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการคล้ายหวัด วัคซีนป้องกันโรคหัดฉีดในช่วงอายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 ขวบ หากลูกสัมผัสกับเชื้อโรคโดยไม่มีภูมิต้านทาน อาจป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือทำให้อาการรุนแรงน้อยลงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ โรคหัดเยอรมัน ผื่นมีลักษณะคล้ายออกหัด แต่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิด โรคนี้ไม่มีอาการหวัดหรือไอ แต่อาจมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยไข้ต่ำกว่า 102 องศาฟาเรนไฮต์ และดูอาการไม่ป่วยหนัก ผื่นเป็นจุดชมพูผิวเรียบ เริ่มเป็นที่ลำตัวก่อน อาการแสดงที่จำเพาะคือ ต่อมน้ำเหลืองบวมและเจ็บที่ท้ายทอย หลังใบหู และตามลำคอ โดยอาจบวม ก่อนที่ผื่นจะขึ้น และยุบหลังจากที่หายแล้วบางคนผื่นขึ้นจางมากจนแทบมองไม่เห็น บางคนอาจมีอาการปวดข้อระยะฟักตัวคือ 12-21 วันหลังจากรับเชื้อ ผื่นอาจมีลักษณะคล้ายผื่นจากโรคอื่น เช่น โรคหัด ไข้อีดำอีแดง และเชื้อไวรัสอื่นๆ โรคนี้เป็นอันตรายต่อหญิงมีครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก เพราะทำให้ทารกในครรภ์พิการ หากมีประวัติสัมผัสโรค ควรปรึกษาแพทย์ทันที การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันทำพร้อมกับวัคซีนหัดและคางทูมที่อายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นที่อายุ 4 ขวบ
  • โรคหัดกุหลาบ
เป็นที่รู้จักไม่มากเท่ากับโรคหัดและหัดเยอรมัน แต่เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยมักเป็นในเด็กอายุ 1-3 ขวบ มีอาการไข้สูงนาน 3-4 วัน โดยไม่มีอาการหวัด และดูอาการไม่ป่วยหนัก (ยกเว้นบางคนมีอาการชักจากไข้สูงได้ในวันแรกของไข้) ต่อมาไข้จะลดลงอย่างเฉียบพลัน แล้วมีผื่นสีชมพูพื้นเรียบขึ้นตามร่างกาย ช่วงนี้ดูไม่ค่อยป่วยแล้ว แต่อาจงอแงกว่าปกติ ผื่นจะหายไปภายใน 2-3 วันช่วงที่ผื่นยังไม่ขึ้น การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้ยาก ต่อเมื่อผื่นปรากฏแล้วเด็กรู้สึกดีขึ้น จึงวินิจฉัยโรคได้ ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค เนื่องจากเป็นโรคไม่ร้ายแรง โรคสุกใส อาการแสดงแรกคือ การมีตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย ใบหน้า และหนังศีรษะ โดยผื่นตอนแรกอาจดูคล้ายผด แต่บางตุ่มมีน้ำสีเหลืองเล็กๆอยู่ด้านบน ผนังตุ่มบางมากจึงแตกง่ายแล้วตกสะเก็ด ตุ่มใหม่จะเพิ่มขึ้นในช่วง 3-4 วันแรก บางคนมีอาการคันมากเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจมีอาการรุนแรง คือ ปวดศีรษะ หรือมีไข้นำมาก่อนตุ่มขึ้นตามผิวหนัง ขณะที่เด็กเล็กอาจไม่มีไข้นำมาก่อน หรือมีไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้ การใช้ยาต้านไวรัสอาจช่วยลดระยะเวลาการป่วยหรือลดความรุนแรง คุณควรปรึกษาแพทย์ว่าควรใช้หรือไม่ในกรณีของลูกตุ่มน้ำจากสุกใสอาจสับสนกับตุ่มผิวหนังติดเชื้อจากแบคทีเรีย จึงควรปรึกษาแพทย์หากลูกเป็นผื่น ร่วมกับมีไข้หรือดูป่วยหนักแพทย์อาจให้ยาแอนติฮิสทามีนเพื่อลดอาการคัน ยาลดไข้พาราเซตามอล แต่ไม่ให้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เป็นโรคไลม์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนหรือมีแผลเป็น ให้ล้างมือลูกบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ ใส่ถุงมือผ้าเวลานอน ระยะฟักตัวคือ 11-19 วันหลังรับเชื้อ ระยะแพร่เชื้อตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการจนกระทั่งวันที่ตุ่มทุกตุ่มตกสะเก็ด คือ ประมาณ 6 วันหลังจากมีผื่นขึ้น วัคซีนป้องกันโรคและลดความรุนแรงได้ เด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น AIDS หรือกำลังได้รับ ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง หากสัมผัสโรค ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการเกิดโรครุนแรง
  • โรคติดเชื้อออกผื่นชนิดอื่น
ไวรัสที่ทำให้เป็นหวัดหรือลำไส้อักเสบ เช่น Adenovirus , ECHO และ Coxsackie อาจมีผื่นร่วมด้วย ส่วนใหญ่เป็นผื่นจางๆที่ลำตัว ใบหน้า แขน และขา และจางหายใน 2-3 วัน

สรุป

วัยเด็กเป็นวัยที่มีความสำคัญต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต การเลี้ยงดูปลูกฝังของพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งหากพ่อแม่ที่มีการอบรมปลูกฝังและการดูแลที่ดีทั้งในแง่พฤติกรรม อารมณ์ สุขภาพ การแสดงออก การตัดสินใจ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อเด็ก ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ดังนั้น การให้ความสำคัญกับเด็ก การดูแลเอาใจใส่เด็ก รวมถึงการให้ความรัก และมีความเข้าอกเข้าใจ ในพัฒนาการ รู้จักส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์มีการแสดงออกอย่างเหมาะสม โดยอยู่ภายใต้พื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กกลายเป็นบุคคลที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

เอกสารอ้างอิง

  • ชนิกา ตู้จินดา. (2548). คู่มือเลี้ยงลูก. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี.
  • ทรงสุดา ภู่สว่าง. การเลี้ยงดูและการอบรมเด็ก. [ออนไลน์]. , จากhttp://www.human.cmu.ac.th/~hc/ebook/006103/lesson3/01.htm
  • พนม เกตุมาน.(2550,พฤษภาคม) ครอบครัวไทย ใจเต็มร้อย. [ออนไลน์]. , จาก http://www.psyclin.co.th/new_page_54.htm
  • มานพ ถนอมศรี. พัฒนาการของลูกก่อนวัยเรียน. แม่และเด็ก. 19(293):/173-175.
  • วรรณา หวังกิตติพร. (2552). เติบโตแข็งแรง. กรุงเทพฯ: แพลน บี.
  • สป๊อก;และเบนจามิน สป๊อก. (2552). คัมภีร์เลี้ยงลูก. แปลโดย สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์สุขภาพ.

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย

การพัฒนาพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย


การพัฒนาพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย
ผศ.วัฒนา  ปุญญฤทธ์
พฤษภาคม  2553
a57
                         การมีวินัยเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานด้านหนึ่งที่ กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ให้สถานศึกษานำไปเป็นจุดมุ่งหมายการพัฒนาด้านจิต พิสัยของนักเรียน  ทั้งนี้ได้ให้ความหมายว่า  การมีวินัยคือการยึดมั่นในระเบียบแบบแผนข้อบังคับและข้อปฏิบัติ  ซึ่งมีทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม  ผู้ที่มีวินัยคือผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบ ของสถานศึกษา  สถาบัน/องค์กร/สังคมและประเทศ  โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจ ขณะเดียวกันสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2552:9) ให้ความหมายว่า  วินัยในตนเองคือความสามารถในการบังคับพฤติกรรมของตนเองด้วยตนเองซึ่งมีวุฒิ ภาวะประเภทหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนควรมี  สำหรับการพัฒนาคุณธรรมด้านการมีวินัยในเด็กปฐมวัยในสถานศึกษานั้น  สามารถพัฒนาไปพร้อมๆกันทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม ซึ่งต้องอาศัยเวลาและการฝึกปฏิบัติให้เด็กมีโอกาสแสดงพฤติกรรมที่เอื้ออำนวย เด็กจะได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติกิจกรรมและพัฒนาไปสู่การมีวินัยในตนเอง และวินัยต่อส่วนรวมในที่สุด
 การพัฒนาคุณธรรมด้านการมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัยสามารถพัฒนาจากกิจกรรม  สภาพแวดล้อม  บรรยากาศของห้องเรียนและการจัดการชั้นเรียนดังนี้
 1.  กิจกรรมที่สนับสนุนการมีวินัยในตนเอง  สารมารถจัดได้ในกิจกรรมดังต่อไปนี้
  1.1  การปฏิบัติตนในกิจวัตรประจำวัน  ซึ่งได้แก่การสนับสนุนให้เด็กปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ในเวลาที่กำหนดให้  เช่น  การเล่น  การพักผ่อน  การรับประทาน  การทำความสะอาดร่างกาย ฯลฯ
  1.2  การปฏิบัติตนในกิจกรรมประจำวันที่สถานศึกษากำหนด  ซึ่งได้แก่การสนับสนุนให้เด็กปฏิบัติตามเวลาของการทำกิจกรรมที่กำหนดและทำ ตามข้อตกลงหรือข้อกำหนดของการทำกิจกรรมนั้นๆ  เช่น  การเล่นตามมุมประสบการณ์หลังจากปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์แล้ว  การเลิกเล่นเมื่อได้ยินสัญญาณให้เลิกพร้อมกับเก็บอุปกรณ์เข้าที่อย่างเรียบ ร้อย  เป็นต้น
  1.3  การจัดประสบการณ์ให้เด็กรับฟัง  รับรู้  มีส่วนร่วม  เกี่ยวกับการมีวินัยในตนเองที่มีผลต่อตนเอง  ต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม  เช่น  การให้ฟังนิทานแล้วแสดงความคิดเห็น  การฟังสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น  แล้วร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสียและกำหนดเป็นแนวทางหรือวิธีที่ พึงปฏิบัติ  การให้ร่วมกันกำหนดกติกา  กฏเกณฑ์  ข้อตกลงต่างๆเพื่อการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น
 2.  สภาพแวดล้อมในห้องเรียน  การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนต้องสนับสนุนให้เด็กมีวินัยในตนเอง  ได้แก่การจัดวัสดุอุปกรณ์ของเล่นของใช้ที่พอเพียงต่อการเล่นหรือการทำ กิจกรรมในแต่ละครั้ง  เพื่อลดปัญหาการแย่งชิงของเล่นของใช้  การกำหนดวิธีการเล่น / ใช้ ที่ชัดเจน  เช่น  การกำหนดจำนวนผู้เข้าเล่นในมุมการเล่นที่แน่นอน  โดยอาจมีการทำป้ายบอกจำนวนผู้เล่นไว้  หากมาทีหลังต้องรอคอยให้ถึงเวลาของตน  รวมทั้งการจัดพื้นที่ของห้องให้เด็กเคลื่อนที่ได้สะดวก  ไม่กระทบกิจกรรมของผู้อื่น  และการจัดของเล่นของใช้ที่เน้นให้เด็กพึงพาตนเองและปฏิบัติตามขั้นตอนหรือ ข้อแนะนำในการเล่น / ใช้ ของนั้นๆ
a58
 3.  บรรยากาศของห้องเรียน  บรรยากาศของห้องเรียนจะต้องส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข  และมีบรรยากาศที่สนับสนุนการมีวินัยในตนเอง  คือมีบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตย  มีการอยู่ร่วมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีการยอมรับซึ่งกันและกัน  มีการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันเท่าที่จะทำได้  มีการให้กำลังใจเพื่อให้เด็กทำสิ่งต่างๆจนประสบความสำเร็จ  และให้โอกาสที่จะได้รับความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน
 4.  การจัดชั้นเรียน  ซึ่งประกอบด้วยการจัดการใน 3 ส่วน  ได้แก่การจัดการด้านกายภาพคือการจัดเรื่องพื้นที่ใช้สอย  พื้นที่ในการทำกิจกรรม  พื้นที่ในการจัดวางอุปกรณ์ เครื่องใช้ และช่องทางจราจรให้มีความสะดวก  มีความพอเพียงในการทำกิจกรรมเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน  การจัดการด้านจิตภาพ  ได้แก่การจัดให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  มีสิทธิและหน้าที่ที่เท่าเทียมกันและมีความเคารพในสิทธิหน้าที่ของแต่ละคน  นำไปสู่การมีวินัยในตนเอง  การจัดการส่วนที่สามคือการจัดการด้านสังคมภาพ  เป็นการจัดการเรื่องข้อกำหนด  กฏเกณฑ์  กติกา  ข้อตกลงต่างๆที่จะให้การดำเนินกิจกรรมประจำวันเป็นไปอย่างราบรื่น  ซึ่งการตกลงเหล่านี้  ครูต้องเปิดโอกาสให้เด็กมีสิทธิและมีส่วนในการแสดงความคิดเห็น  ร่วมตกลง  หลังจากนั้นจะต้องร่วมกันปฏิบัติและดูแลให้ทุกคนปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นๆตลอด เวลา  การจัดการชั้นเรียนดังกล่าวจะเป็นวิธีการหนึ่งในการฝึกฝนให้เด็กรู้หน้าที่  มีความรับผิดชอบและมีวินัย
 การมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย  เป็นลักษณะของการเริ่มแสดงถึงผลของการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมและการฝึกฝนให้ ปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรู้ถึงกฏเกณฑ์  กติกา  ข้อตกลงและสิ่งที่พึงกระทำในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลตนเอง  การปฏิบัติอย่างเหมาะสมในสิ่งที่ต้องกระทำเพื่อให้เกิดผลดีต่อตนเอง  ผู้อื่น  ส่วนรวมหรือสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้เป็นการปฏิบัติอย่างเต็มใจโดยไม่ต้องบอกหรือบังคับ  สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมต่อไปนี้
 1.  ปฏิบัติตามระเบียบของสถานศึกษา
 2.  ปฏิบัติตามข้อตกลงของห้อง
 3.  ทำตามกติกาในการเล่น / ทำกิจกรรม
 4.  ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตนเอง
 5.  เล่น / ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้
 6.  อดทนรอคอยที่จะได้รับสิ่งที่ต้องการ
 7.  เข้าแถวตามลำดับก่อนหลังโดยไม่แซงคิว
 8.  ทำตามที่สัญญาหรือตกลงกันไว้
 9.  ปฏิบัติสิ่งที่ได้รับมอบหมายจนแล้วเสร็จ
 10. ทำงานจนเสร็จตามเวลาที่กำหนด
 11. ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
 12. ใช้ของใช้หรือเล่นของเล่นอย่างระมัดระวัง
 13. เก็บของเข้าที่หลังจากใช้แล้วหรือเล่นเสร็จ
 ใน การสังเกตพฤติกรรมความมีวินัยของเด็กนั้นสามารถสังเกตโดยการบันทึกพฤติกรรม ลงในแบบบันทึก  ขณะที่เด็กทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการเกิดพฤติกรรม เช่น  การสังเกตพฤติกรรมขณะเด็กทำกิจกรรมเสรีที่เด็กมีโอกาสเล่นกับเพื่อน  เล่นกับเครื่องเล่นต่างๆในมุมการเล่น  การเข้าเล่นที่มุมการเล่นโดยปฏิบัติตามข้อตกลงในการเล่น  การปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองและการควบคุมตนเองให้ทำตามเงื่อนไข  ข้อตกลง  และสิ่งที่ควรกระทำ  เป็นต้น  การสังเกตนั้นอาจจะบันทึกในรูปของความถี่ที่แสดงพฤติกรรมหรือตามระดับของ พฤติกรรมนั้นๆ
 การพัฒนาพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย  จึงเริ่มโดยการฝึกหัดเกี่ยวกับพฤติกรรมในกิจวัตรประจำวัน  การทำกิจกรรมประจำวันที่เป็นไปตามกติกา กฎ ระเบียบ ข้อตกลงต่างๆโดยการแนะนำ  ฝึกฝน  ให้การสนับสนุนและการเป็นตัวแบบของผู้ใหญ่  ส่วนการสังเกตพฤติกรรมนั้นสามารถสังเกตขณะที่เด็กทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การเกิดวินัยในตนเอง และบันทึกไว้ในแบบบันทึกเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการจัดประสบการณ์ของครู ต่อไป

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

มารยาทที่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัย

ความหมายของมารยาทไทย ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่ามารยาทหรือมรรยาท เป็นคำไทย ซึ่งนำมาจากภาษาบาลี ว่า “ มริยาท ” หรือภาษาสันสกฤตว่า “ มรยาทา ” แปลว่า กิริยาวาจาที่ถือว่าเรียบร้อย หมายถึง การปฏิบัติตนโดยผ่านกระบวนการฝึกอบรม ขัดเกลาให้เป็นไปตามความนิยมยอมรับของสังคมแต่ละสังคม

ลักษณะเฉพาะของมารยาทไทย ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาติ และเป็นการแสดงออกต่อผู้อื่นที่นุ่มนวล มีความเป็นระเบียบแบบแผน มีกาละเทศะ คือ

· สุภาพอ่อนน้อม
· เคารพระบบอาวุโส
· มีกิริยาวาจาคำลงท้ายเฉพาะ
· มีการยืน เดิน นั่ง ที่ต่างบรรยากาศ
· มีการแสดงความเคารพ
· การทักทาย
· การใช้วาจา
· การแสดงความคิดเห็น


คุณค่าของมารยาทไทย เรื่องของมารยาทนั้น ยังมักเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องวิธีการเข้าสังคม ปรับตัวให้เข้ากับหมู่คณะเพื่อความเป็นระเบียบ เพื่อความงดงามน่าดู ความจริงแล้วมารยาทเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมของไทย ซึ่งส่วนหนึ่ง มาจากสังคมเกษตรกรรม และอีกส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาต่างๆทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ คนไทยได้รับการยกย่องจากชาวต่างชาติมาช้านานว่า เป็นผู้มีมารยาทอ่อนโยน นุ่มนวล น่ารัก

ลักษณะมารยาทที่ดีในเด็กปฐมวัย สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้ดังนี้
1. มารยาทการพูดจา
· เจรจาไพเราะ มีหางเสียง ครับ หรือ ค่ะ

· รู้จักใช้คำว่า ขอบคุณ และ ขอโทษ ให้เป็นนิสัย

· ไม่พูดเสียงดังเกินไป หรือตะโกนโหวกเหวก เป็นกิริยาที่ไม่งาม

· งดพูดคำหยาบคาย เพราะไม่เป็นมงคลแก่ผู้พูด และผู้ฟัง

2. มารยาทการแสดงออก
· หลีกเลี่ยงการแย่งกันพูด นอกจากจะไม่น่าดูแล้วยังไม่รู้จักการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย

· ฝึกท่าทางประกอบการพูดให้เหมาะสม ไม่ยกมือขวักไขว่ หรือแสดงท่าทางอยู่ตลอดเวลา ฝึกพูดให้มีจังหวะ เสียงชัดเจน พูดสั้นแต่ได้ใจความ ไม่เพ้อเจ้อ เพราะบางคนแก้เขินด้วยการแลบลิ้น การยักคิ้ว โดยไม่ตั้งใจ เมื่อทำบ่อยๆก็จะติดเป็นนิสัยและเสียบุคลิกภาพได้

· แสดงไมตรีจิตด้วยการทักทาย สนใจทุกข์สุข และแสดงความจริงใจ

· การมีสัมมาคารวะ รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ รู้จักเคารพผู้อื่น

· การแสดงออกเมื่อมีโอกาส เป็นมารยาทที่ต้องฝึกให้เป็นนิสัย เช่น มารยาทการลุก นั่ง เดิน ยืน การใช้น้ำเสียง การควบคุมอารมณ์

· มารยาทเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ เช่นไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่นั่งกระดิกเท้า ไม่นั่งเหยียดเท้าถ่างขา เวลาเดินผ่านก็ต้องก้มหลัง หรือถ้าพบผู้ใหย่ก็ต้องแสดงความเคารพ

· รู้จักกล่าวคำสุภาพ ไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่ ต้องมีความนอบน้อมนับถือผู้ใหญ่

· ต้องไม่แสดงกิริยาขัดขวางสิ่งที่นิยมกัน เช่นขณะที่เขานั่งอยู่กับพื้น ตนเองต้องไม่ยืน ขณะที่เขาทุกข์โศกต้องไม่แสดงกิริยารื่นเริง ถ้าเป็นแขกบ้านใดก็ต้องเกรงใจเจ้าของบ้าน เมื่อพบใครต้องไม่จ้องดูเขา

· ต้องรู้จักเกรงอกเกรงใจผู้อื่น รู้จักเคารพผู้อื่น รู้จักแสดงความอ่อนน้อมทั้งกาย วาจา ใจ และแสดงมารยาทกับผู้อื่นได้เหมาะสมกับวัย กับบุคคล กับโอกาส และสถานที่

ปัจจุบันพฤติกรรมการแสดงออกของนักเรียนพบว่า มีมารยาทที่แตกต่างจากเดิมมาก ทั้งยังเป็นไปในทางลบ ไม่ว่าด้านการพูด ด้านการกระทำ และด้านการแสดงออก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปลูกฝังและพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะการปลูกฝังมารยาทไทยนั้นเป็นการซึมซับ ซึ่งวิธีการที่จะช่วยพัฒนามารยาทไทยให้กับเด็กปฐมวัย ได้แก่พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างสำคัญ และต้องคอยอบรม คอยแนะนำ คอยสั่งสอนเด็กอย่างใกล้ชิด ตลอดจนคุณครูประจำชั้น จะต้องมีหน้าที่ให้วิชาความรู้เรื่องมารยาทไทยกับเด็ก และจะต้องฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทให้เด็กเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะจัดผนวกไปกับตารางประจำวันก็ได้ เช่นก่อนเข้าห้องเรียน หรือก่อนกลับบ้านตอนเย็น ตามความเหมาะสมและจำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม

เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม


เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม
หมายถึงเด็กที่แสดงพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากทั่วไป
และพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนนี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กเองและของผู้อื่นด้วย
พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนเป็นผลมาจากความขัดแย้งของเด็กกับสภาพแวดล้อม
หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตัวเด็กเอง ซึ่งไม่สามารถเรียนรู้
ขาดสัมพันธภาพกับเพื่อนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน มีความคับข้องใจ
มีความเก็บกดทางอารมณ์โดย แสดงออกทางร่างกาย
ซึ่งบางคนมีความบกพร่องซ้ำซ้อนอย่างเด่นชัด และเกิดเป็นเวลานาน



การให้ความช่วยเหลือ

เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม
มีลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาคือพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน
การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก
ส่วนความวิตกกังวล การมีปมด้อย การหนีสังคม และความผิดปกติทางการเรียน
เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการขัดแย้งในตัวเด็กเอง การให้ความช่วยเหลือ จึงทำได้หลายรูปแบบ ศาสตราจารย์ ดร.ผดุง อารยะวิญญู ( 2541 .
105-107 ) ได้เสนอแนะการช่วยเหลือไว้ 3รูปแบบดังนี้

1.รูปแบบทางจิตวิทยาการศึกษา นักจิตวิทยาเชื่อว่าองค์ประกอบทางชีววิทยา
และการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็กตลอดจนปัญหาทาง


อารมณ์ล้วนมีมูลเหตุมาจากพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องทั้งสิ้น
ทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ลงได้คือ
ให้เด็กเข้าใจปัญหาของตนเอง และยินดีที่จะหาทางขจัดปัญหานั้นๆ
การช่วยเหลือเด็กนั้นครูจะต้องทำให้เด็กเกิดความเชื่อถือ เกิดศรัทธา
ทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหาของตน
ดังนั้นการเรียนการสอนจึงควรกระทำเป็นรายบุคคล ควรใช้เกมสถานการณ์จำลอง
และกิจกรรมอื่นที่แตกต่างไปจากที่ใช้กับเด็กปกติ
จึงจะสามารถช่วยเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ

2.รูปแบบทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาได้ค้นพบพบหลักการเรียนรู้และการปรับพฤติกรรมของเด็กหลักการปรับพฤติกรรมนี้สามารถนำมาใช้ในการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้
ตัวอย่างเช่น เด็กอาจจะเรียนรู้โดยการสังเกตพฤติกรรมของเด็กปกติ
โดยยึดพฤติกรรมของเด็กปกติที่ดีเป็นแบบอย่าง
ดังนั้นการปรับพฤติของเด็กจึงควรเน้นและให้ความสนใจพฤติกรรมที่พึงประสงค์เท่านั้น
พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ไม่ควรได้รับความสนใจ ในการช่วยเหลือเด็กนั้นครูหรือนักจิตวิทยาอาจให้แรงเสริมเพื่อให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น
หรืออาจใช้เทคนิคอื่นๆ ในการลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ลง

3.รูปแบบทางนิเวศวิทยา
นักนิเวศวิทยาเชื่อว่าเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เด็กเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน
และโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พฤติกรรมของเด็กควรได้รับการยอมรับจากสังคม ในการช่วยเหลือเด็ก
ครูควรทำความเข้าใจกับทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นระบบในสังคม
ทั้งนี้เพื่อหาทางขจัดสิ่งที่เป็นสาเหตุให้เด็กมีปัญหาทางพฤติกรรม
เด็กอาจได้รับการปรับพฤติกรรม แต่นักนิเวศวิทยาเชื่อว่า
นั่นยังไม่เพียงพอควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเด็กเท่าที่จำเป็นด้วย
และรวมไปถึงการปรับปรุงทัศนคติของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนสมาชิกในชุมชน
เพื่อให้มีความเข้าใจและยอมรับเด็กมากขึ้น การปรับพฤติกรรมมีหลายวิธีดังนี้

3.1เสริมแรงทางบวก อาจเสริมแรงด้วยวาจา เช่น
ขมเชยเด็กเมื่อเด็กทำเรื่องที่ดีและถูกต้องเป็นต้น ใช้อุปกรณ์เสริมแรง เช่นขนม
ของเล่น ของใช้เป็นต้น ควรใช้อย่างสม่ำเสมอในระยะแรก
เมื่อพฤติกรรมคงที่แล้วควรลดการเสริมแรงโดยเสริแรงเป็นครั้งคราว

3.2เสริมแรงทางลบ เช่นเด็กไม่ส่งการบ้าน ครูดุ ถ้าเด็กส่งการบ้าน ครูเลิกดุ
เด็กก็มีแนวโน้มที่จะส่งการบ้านอีก

3.3การแก้ไขให้ถูกต้องเกินกว่าที่ทำผิด เป็นการแก้ไขผลการกระทำของเด็ก
และแก้ไขในปริมาณมากกว่าเดิม เช่นเด็กเล่นขว้างปาสิ่งของในห้องสกปรก
ครูใช้เทคนิคปรับพฤติกรรม โดยอาจจะให้เก็บขยะให้เรียบร้อย
และจัดโต๊ะในห้องเรียนให้เรียบร้อยเป็นการลงโทษให้ทำงานเพิ่มมากขึ้น

3.4การเป็นแบบอย่างที่ดี ครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เด็กอาจยึดครูเป็นแบบอย่างในหลายด้าน เช่น
การพูดจาไพเราะ ขยัน ทำงานเป็นระเบียบ

การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมกับเด็กปกติ

การจัดเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม
เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกตินั้น ควรพิจารณาองค์ประกอบสำคัญดังนี้


1.ทัศนคติของเด็กต่อการเรียนร่วม


2.ทัศนคติของครู
ผู้ปกครองต่อการเรียนร่วม


3.พฤติกรรมของเด็ก
ตลอดจนความรุนแรงของพฤติกรรม


4.ความสามารถของเด็กในการควบคุมตนเอง
ตลอดจนทักษะทางสังคมของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคบเพื่อน การเข้ากับคนอื่น


5.ความพร้อมของครู
ที่จะรับเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมเข้าเรียนร่วมชั้นปกติ


6.ความร่วมมือจากผู้ปกครองในการปรับพฤติกรรมเด็ก


7.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ


เด็กที่เรียนร่วมได้อย่างประสบผลสำเร็จนั้น
ควรเป็นเด็กที่ได้รับการปรับพฤติกรรมแล้ว เด็กมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับเด็กปกติ
หากเด็กยังมีปัญหาทางพฤติกรรมอยู่บ้าง
ต้องได้รับบริการจากสถานศึกษาในด้านบริการแนะแนวและให้คำปรึกษาหรือรับบริการจากครูเสริมวิชาการ


การประเมินผล

การประเมินผล
เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ฏ็ดำเนินการให้เป็นไปตามวิธีการและเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล